(เพิ่มเติม) ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยม.ค. ชะลอลงตามส่งออก-ท่องเที่ยว, เงินเฟ้อเร่งตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 28, 2022 16:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยม.ค. ชะลอลงตามส่งออก-ท่องเที่ยว, เงินเฟ้อเร่งตัว

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 65 ชะลอลงบ้าง โดยการบริโภคและลงทุนของภาคเอกชนปรับลดลงจากความกังวลต่อการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับลดลงจากการระงับการลงทะเบียนเข้าประเทศผ่านระบบ Test&Go ชั่วคราว ขณะที่การส่งออกสินค้าปรับลดลงบ้าง หลังจากเร่งไปในเดือนก่อน สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางด้านการซื้อสินค้าและบริการ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานและอาหารสด เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ส่วนตลาดแรงงานทยอยปรับดีขึ้นบ้าง แต่โดยรวมยังเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าเดือนก่อน

(เพิ่มเติม) ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยม.ค. ชะลอลงตามส่งออก-ท่องเที่ยว, เงินเฟ้อเร่งตัว

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธปท. กล่าวว่า ในเดือนมกราคม 65 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ที่ 1.33 แสนคน ปรับลดลงจากเดือนธันวาคม 64 เนื่องจากการระงับการลงทะเบียนเข้าประเทศผ่านระบบ Test & Go ในช่วงวันที่ 21 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2565 หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในหลายประเทศ

ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้า ขยายตัว 7.9% ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวถึง 23% สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดยานยนต์หลังจากที่เร่งผลิตไปในเดือนก่อนตามคำสั่งซื้อคงค้าง ขณะที่หมวดเคมีภัณฑ์ลดลงตามการปรับลดปริมาณการผลิตปุ๋ยเคมีลงชั่วคราว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบที่อยู่ในระดับสูง

ขณะที่การนำเข้า ขยายตัว 18.4% ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 28.2% ทำให้มียอดเกินดุลการค้าลดลง ส่งผลให้ในเดือนมกราคม 65 มียอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่าเดือนก่อน

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวด โดยเป็นผลจากสถานการณ์การระบาดในประเทศที่กลับมารุนแรงขึ้น และการเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการควบคุมการระบาด ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมและความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงบ้างส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนปรับลดลงบ้าง จากการลงทุนด้านการก่อสร้างที่ลดลงตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ขณะที่การลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ทรงตัวจากเดือนก่อน

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอน หดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายประจำหดตัวเล็กน้อยจากรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางขยายตัวจากการเบิกจ่ายโครงการก่อสร้างเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางถนน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานและอาหารสด ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากราคาอาหารสำเร็จรูปที่ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น ด้านตลาดแรงงานทยอยปรับดีขึ้นบ้างแต่โดยรวมยังเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าเดือนก่อน

ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ตามความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังจากมีการประกาศในกลางเดือนมกราคม 65 ว่าไทยจะกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านระบบ Test & Go อีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดภายในประเทศ

โดยในเดือนมกราคม 65 เงินบาทแข็งค่ามากกว่าประเทศคู่ค้าคู่แข่ง และยังแข็งค่าต่อเนื่องไปในเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากนักลงทุนในตลาดโลกกลับเข้ามาลงทุนสินทรัพย์ในไทย จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่กลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น ประกอบกับนักลงทุนมองว่านโยบายการเงินของไทยยังผ่อนคลาย จึงทำให้มีเงินไหลเข้ามาในประเทศ รวมถึงแรงขายทองคำในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ปลายเดือนกุมภาพันธ์มีข่าวความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่รุนแรงขึ้น จึงทำให้นักลงทุนลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง ถึงแม้บาทจะอ่อนค่าลงมาบ้าง แต่ก็ยังอ่อนค่าน้อยกว่าสกุลเงินของประเทศอื่น

"โดยสรุปแล้ว ในเดือนมกราคม 65 เศรษฐกิจไทยชะลอลงบ้าง ส่วนหนึ่งมาจากการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงาน และอาหารสด เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ส่วนตลาดแรงงานทยอยปรับดีขึ้นบ้าง แต่โดยรวมยังเปราะบาง ด้านเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง จากมุมมองต่อมาตรการควบคุมการระบาดในประเทศที่มีทิศทางผ่อนคลายมากขึ้น" น.ส.ชญาวดี กล่าว

น.ส.ชญาวดี ยังกล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 65 ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับดีขึ้นบ้างจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของไวรัสโอมิครอน อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามคือ 1.สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโอมิครอน 2.เงินเฟ้อที่อาจปรับตัวสูงขึ้น และ 3.ปัญหา Supply chain


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ