(เพิ่มเติม) สภาพัฒน์ คาดปี 51 GDP โต 4-5% จากที่โตสูงกว่า 4.5% ในปี 50

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 3, 2007 12:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)คาดการณ์แนวโน้มของภาวะเศรษฐกิจ(GDP)ในปี 51 
จะมีอัตราการขยายตัวได้ 4-5% ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 9.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การส่งออกโต 10% และดุลการค้าเกินดุล 7.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3-3.5%
จากประมาณการปี 50 ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตกว่า 4.5% ซึ่งสูงขึ้นจากเดิมที่คาดไว้ในระดับ 4-4.5% เป็นการเติบโตต่อเนื่องจากในไตรมาส 3/50 ที่เติบโตได้สูงถึง 4.9%
*เศรษฐกิจปี 51 ได้อุปสงค์ในประเทศฟื้นตัวช่วยทดแทนส่งออก
นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุในการแถลงข่าวเช้าวันนี้ว่า ปี 51 คาดว่าจีดีพีจะเติบโตในระดับ 4-5% จากอุปสงค์ภายในประเทศขยายตัวได้ดีขึ้น และชดเชยผลกระทบจากการส่งออกชะลอตัว และการขยายตัวของเศรษฐกิจจะมีลักษณะที่สมดุลมากขึ้น นอกจากนี้ปัจจัยในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เช่น อัตราดอกเบี้ยต่ำ อัตราการว่างงานต่ำ การดำเนินนโยบายแบบขาดดุลและความแน่นอนในด้านการเมืองทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนดีขึ้น
แต่แรงกดดันจากต้นทุนราคาน้ำมันจะทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเป็นประมาณ 3.0-3.5% และมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกทั้งราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
การคาดการณ์ดังกล่าวอยู่สมมุติฐานว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 75-80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และเศรษฐกิจโลกขยายตัว 4.5% ขณะที่การลงทุนภาครัฐและเอกชนขยายตัวได้ดีขึ้นโดยเฉพาะช่วงครึ่งหลังของปี ดังนั้นจึงเชื่อว่าเศรษฐกิจในปี 51 มีโอกาสที่จะขยายตัวสูงกว่าปี 50
"ปีหน้าไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล หากจะให้เศรษฐกิจเดินได้อย่างสมดุล ทั้งในเรื่องการส่งออก การลงทุน การบริโภคภายในประเทศ ก็จะต้องเดินหน้าเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก และการท่องเที่ยว" นายอำพน กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยในปี 51 มีโอกาสที่จะขยายตัวเต็มศักยภาพ 5% มาจากการลงทุนและการบริโภคที่เริ่มขยายตัวในปีนี้ ทั้งในส่วนของโครงการที่ได้รับบีโอไอ โครงการระบบขนส่งมวลชน การเบิกจ่ายภาครัฐ และสถานการณ์ในต่างประเทศไม่เกิดเหตุรุนแรง ที่ทำให้การส่งออกขยายตัวไปตามคาด และอัตราเงินเฟ้อไม่เกิน 3.5%
อย่างไรก็ดี ในปี 51 ยังมีปัจจัยบวกจากการที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ อัตราการว่างงานต่ำ การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ การดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล และสถานการณ์การเมืองที่ชัดเจน แต่มีปัจจัยเสี่ยงจากราคาน้ำมันแพง การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และการแข่งขันในตลาดโลกจะรุนแรงมากขึ้น
"ถ้ารัฐบาลใหม่เข้ามาจะใช้นโยบายขาดดุลก็ไม่ควรเกิน 3% ของจีดีพี(8.4 ล้านล้านบาท) เพราะหากขาดดุลมากเกินไปจะไม่สร้างผลดี" นายอำพน กล่าว
*ส่งออกตัวหลักดันศก.ปี 50 โตกว่าคาดเดิม
นายอำพน กล่าวว่า เศรษฐกิจในปี 50 จะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 4.5% โดยมีการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนหลักแม้ว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงช่วงครึ่งหลังของปีเนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นในครึ่งหลังของปี อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีจะเท่ากับ 2.3%, ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 6% ของ GDP และอัตราการว่างงานจะยังต่ำ 1.5%
ไตรมาส 3/50 เศรษฐกิจขยายตัว 4.9% สูงกว่า 4.3% ในไตรมาส 2/50 และ 4.2% ในไตรมาส 1/50 จากการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นและการเบิกจ่ายงบประมาณเพิ่มขึ้นมาก รวมทั้งการส่งออกยังขยายตัวได้ในเกณฑ์ดีแม้ว่าจะเริ่มชะลอตัว รวม 3 ไตรมาสแรกเศรษฐกิจไทยขยายตัว 4.5%
"เศรษฐกิจไทยปีนี้โตเต็มศักยภาพที่ 4.5% เพราะมองว่าการส่งออกและการใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นไปตามเป้า นอกจากนี้ยังมีสัญญาณการลงทุนและการบริโภคที่ดี รวมถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายดีกว่าไตรมาสก่อน" นายอำพน กล่าว
ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจยังมีเสถียรภาพ โดยในไตรมาส 3/50 มีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับ 1.6% ลดลงจาก 2.4% และ 1.9% ในไตรมาส 1/50 และไตรมาส 2/50 เฉลี่ย 10 เดือนเท่ากับ 2.1%, อัตราการว่างงานเท่ากับ 1.2% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.93 พันล้านเหรียญสหรัฐ และรวม 3 ไตรมาสแรกเกินดุล 9.26 พันล้านเหรียญสหรัฐ
เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยตลาดเงินปรับลดลง การขยายสินเชื่อเร่งตัวมากขึ้น ขณะที่เงินฝากเริ่มชะลอตัว แต่โดยรวมสภาพคล่องยังอยู่ในระดับสูง ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและตลาดหลักทรัพย์มีความผันผวนตามตลาดการเงินโลก โดยเฉลี่ยค่าเงินบาทแข็งขึ้น และดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้น
ส่วนในไตรมาส 4/50 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัว 4.6-4.7% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจหลายด้าน ประกอบด้วย ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ดีขึ้น อัตราดอกเบี้ยต่ำลง และการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรัฐบาลและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการส่งออกที่จะยังขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ