นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 และ พ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ฉบับที่2 ) พ.ศ.2550 ประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว โดย พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงานมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และพ.ร.บ.ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วัน(นับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา) หรือประมาณต้นเดือนมิถุนายน 2551
"กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ นับเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญ ต่อการบริหารจัดการด้านการอนุรักษ์พลังงาน และการกำกับดูแลกิจการพลังงาน ได้แก่ ธุรกิจไฟฟ้า และธุรกิจการให้บริการขนส่งก๊าซธรรมชาติเป็นอย่างมาก" นายคุรุจิต กล่าว
สำหรับ พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน มีเนื้อหาสำคัญเพื่อให้มีการกำกับดูแลที่ครอบคลุมกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในระยะยาว เป็นเครื่องมือและกลไกกำกับดูแลให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม และบริหารกิจการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะการกำหนดอำนาจหน้าที่อย่างชัดเจน และการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค
ภายใต้กฎหมายดังกล่าวจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จำนวน 7 คน โดยมีคณะกรรมการอิสระเข้ามาทำหน้าที่ กำกับดูแลการประกอบกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ ออกระเบียบหรือประกาศข้อกำหนด มาตรการ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการประกอบกิจการ รวมทั้งตรวจสอบการดำเนินงานของผู้ประกอบกิจการให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส พร้อมมีมาตรการที่จะคุ้มครองผู้ใช้ไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติด้วย
การคุ้มครองผู้บริโภคและการจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เป็นการกำหนดมาตรฐานการให้บริการ และการคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน และการจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่ออุดหนุนค่าไฟฟ้าให้แก่ผู้ด้อยโอกาส และจัดให้มีการบริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึง กระจายความเจริญไปสู่ทุกภูมิภาค นอกจากนี้ ยังให้มีการจัดสรรเงินพัฒนาชุมชนให้แก่ท้องถิ่นอยู่ในเขตรอบๆ โรงไฟฟ้า หรือการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
การดูแลอสังหาริมทรัพย์ เป็นข้อกำหนดที่ว่าด้วยกระบวนการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้าง และบำรุงรักษาโครงข่ายไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ การสำรวจเพื่อหาสถานที่ตั้ง การเลือกแนวเขต การก่อสร้าง และซ่อมบำรุงรักษาระบบโครงข่ายพลังงาน จากเดิมอำนาจเหล่านี้จะอยู่กับการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง และปตท. เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค
ส่วนพ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อให้สามารถกำกับการใช้พลังงานและส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานได้ครอบคลุมทุกภาคส่วน การใช้มาตรการจัดการพลังงาน และการเพิ่มกลไกการส่งเสริมและการกำกับดูแลด้านประสิทธิภาพของการผลิต การจำหน่าย อุปกรณ์ และเครื่องจักร ทั้งที่ใช้ในภาคเกษตร คมนาคมขนส่ง และที่อยู่อาศัย การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการอนุรักษ์พลังงานไม่ให้เป็นภาระต่อผู้ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งการปรับปรุงขั้นตอนกฎระเบียบให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อให้ทันต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม
--อินโฟเควสท์ โดย อตฦ/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--