สำหรับปัจจัยสนับสนุนการส่งออกในเดือนม.ค. ได้แก่ การสานต่อนโยบายหลักดันสินค้าตามยุทธศาสตร์ "ตลาดนำการผลิต", การเสริมศักยภาพการค้าชายแดน, การฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบีย, ภาคการผลิตทั่วโลกยังขยายตัว และปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น
ส่วนการส่งออกในเดือน ก.พ.65 ไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน โดยยังคงเป้าส่งออกปีนี้ไว้ที่ 3-4% เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบโดยตรง เนื่องจากตลาดรัสเซียเป็นตลาดที่มีสัดส่วนราว 0.38% ของไทย
สำหรับตลาดส่งออกของไทยที่ขยายตัวสูง 10 อันดับแรก ประกอบด้วย 1. อินเดีย (+31.9%) 2. รัสเซีย (+31.9%) 3. สหราชอาณาจักร (+29.7%) 4. เกาหลีใต้ (+26.8%) 5. สหรัฐฯ (+24.1%) 6. แคนาดา (+13.6%) 7. อาเซียน5 (+13.2%) 8. จีน (+6.8%) 9. ลาตินอเมริกา (+5.0%) 10. สหภาพยุโรป (+1.4%)
ทั้งนี้ ตัวเลขการส่งออกอย่างเป็นทางการในเดือนม.ค. 65 ที่ออกมาล่าช้าในรอบนี้ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่กรมศุลกากรมีการปรับระบบพิกัดศุลกากรใหม่ทุก 5 ปี ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะต้องมีการนำสินค้ากว่าหมื่นรายการมาเปลี่ยนพิกัดใหม่
นายจุรินทร์ กล่าวว่าสำหรับสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนนั้น ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ประชุมร่วมกับภาคเอกชน ทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สมาพันธ์ SMEs และสมาคมอื่นที่เกี่ยวข้อง พบว่า การประเมินผลกระทบที่มีต่อภาวะการค้าการส่งออกและนำเข้าของไทย จนถึงขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบทางตรง เนื่องจากรัสเซียเป็นตลาดส่งออกที่มีสัดส่วนเพียง 0.38% ของไทย และตลาดยูเครน มีสัดส่วนเพียง 0.04% ของไทย ถือว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่มาก
เมื่อเจาะเป็นรายสินค้า พบว่าถ้าจะมีผลกระทบทางตรงอาจจะกระทบต่อสินค้าประเภทยางรถยนต์ อาหารแปรรูป อัญมณีและเครื่องสำอาง ที่ส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครน เป็นต้น และในอนาคตอาจกระทบต้นทุนธุรกรรมทางการเงิน และต้นทุนการขนส่งสินค้าทางเรือ หากราคาน้ำมันยังสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และหากมีการปิดบางท่าเรือในรัสเซียหรือยูเครน อาจทำให้การส่งสินค้าของไทยต้องเปลี่ยนท่าเรือ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งได้
สำหรับผลกระทบทางอ้อมจากราคาพลังงาน หรือราคาเหล็กนำเข้าที่นำมาผลิตสินค้าต่อเนื่อง เช่น กระป๋องบรรจุอาหาร หรือเหล็กสำหรับก่อสร้าง เป็นต้น และผลกระทบต่อราคาธัญพืชที่นำเข้า เพื่อผลิตอาหารสัตว์ เช่น ข้าวสาลี และข้าวโพด เป็นต้น เพราะรัสเซีย-ยูเครนเป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก
โดยที่ประชุมได้เตรียมมาตรการต่างๆ ไว้รองรับหากเกิดปัญหา เช่น การเตรียมบุกตลาดทดแทน เช่น ตลาดตะวันออกกลาง ตลาดแอฟริกา ตลาดลาตินอเมริกา รวมทั้งเตรียมบุกตลาดทดแทนสินค้าของรัสเซียหรือยูเครนที่ไม่สามารถส่งออกไปตลาดสำคัญในโลกได้ โดยจะถือเป็นโอกาสเข้าไปทดแทนตลาดรัสเซียกับยูเครน เช่น มันสำปะหลัง ซึ่งอาจส่งไปจีนแทนข้าวโพดของยูเครน หรือผลิตภัณฑ์ยางในสหรัฐ อาหารสำเร็จรูปทดแทนตลาดรัสเซียและยูเครน เป็นต้น
"ได้มอบให้ปลัดฯ ประสานงานกับภาคเอกชนโดยใกล้ชิด และติดตามสถานการณ์โดยใกล้ชิด ทำงานร่วมกัน ถ้าเกิดปัญหาหน้างาน เร่งแก้ปัญหาร่วมกันโดยเร็ว ให้ได้รับผลทางบวกมากที่สุด และทางลบน้อยที่สุด" รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ระบุ
นายจุรินทร์ ยังกล่าวถึงสถานการณ์ราคาวัตถุดิบอาหารที่สูงขึ้นว่า กรณีกากถั่วเหลือง ที่นำเข้าจากสหรัฐฯ มีราคาสูงขึ้น เนื่องจากเกิดปัญหาภัยแล้งในสหรัฐฯ ปริมาณกากถั่วเหลืองลดลง ทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้น ผู้ประกอบการเรียกร้องให้ปรับอัตราภาษี ซึ่งกระทรวงการคลังคงต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมว่าหากปรับภาษีนำเข้าแล้ว จะมีผลกระทบกับเกษตรกรไทยอย่างไร แต่ขณะนี้ กระทรวงาพาณิชย์ ได้ขอความร่วมมือผู้ผลิตให้ตรึงราคาไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เพื่อไม่ให้กระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ และประชาชน
"ส่วนต้นทุนอาหารสัตว์ในประเทศ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่สูงขึ้นนั้น ถือเป็นความสำเร็จอีกด้านหนึ่งของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ และรัฐบาล ซึ่งราคาข้าวโพดที่ 10-11 บาท/กก. เกษตรกรมีความสุข แต่อีกด้าน ก็ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น ราคาเนื้อสัตว์อาจสูงขึ้นตาม ดังนั้นต้องแก้ปัญหาทั้ง 2 ด้านให้สมดุล และอยู่ได้ทั้งสองฝ่ายต่อไป" นายจุรินทร์ กล่าว
สำหรับราคาไข่ไก่ ที่สมาคมผู้เลี้ยง ผู้ผลิต และส่งออกไข่ไก่ ได้ประกาศแจ้งราคาแนะนำไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม ที่ฟองละ 3.20 บาท ปรับขึ้นฟองละ 30 สตางค์ หรือปรับขึ้นแผงละ 9 บาท (แผง 30 ฟอง) จากราคาที่กระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือตรึงไว้ที่ฟองละ 2.90 บาทนั้น จากการสำรวจราคาทั่วประเทศของพาณิชย์จังหวัด และกรมการค้าภายใน พบว่า ราคาเฉลี่ยทั่วประเทศมีแนวโน้มลดลง โดยล่าสุด วันที่ 1 มี.ค.65 ไข่ไก่เบอร์ 3 อยู่ที่ฟองละ 3.28 บาท ขณะที่ราคาที่กระทรวงพาณิชย์กำกับให้ขายได้ อยู่ที่ฟองละ 3.50 บาท แต่ราคาขายในห้างค้าปลีกค้าส่งถูกกว่า อยู่ที่ฟองละ 3.20-3.30 บาท
ทั้งนี้ ได้รับแจ้งจากผู้เลี้ยงว่าต้นทุนอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นมาก จึงสั่งการให้กรมการค้าภายในหารือกับสมาคมฯ ต่างๆ แล้ว เท่าที่ได้รับรายงาน พบว่า สาเหตุที่ปรับขึ้นเพราะต้นทุนอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นจริง อย่างไรก็ดี ต้องรอให้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (เอ้กบอร์ด) ที่มีรมว.เกษตรและสหกรณ์เป็นประธานพิจารณาก่อน จากนั้นจึงจะมีการพิจารณาราคาขายหน้าฟาร์ม และขายปลีก เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ได้ ทั้งเกษตรกร ผู้บริโภค โดยกระทรวงพาณิชย์จะพิจารณาด้วยความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่ายโดยเร็ว