สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) หนุนเอกชนจัดงาน Subcon Thailand 2008 เพื่อสร้างโอกาสให้แก่เอสเอ็มอีไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วน หลังยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนช่วง 10 เดือนแรกโตกว่าปีก่อน 30%
"มีแนวโน้มที่ดีและจะมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการผลิตชิ้นส่วนเพื่อป้อนให้กับโครงการอีโคคาร์(รถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล) ซึ่งน่าจะมีมูลค่าการลงทุนของอุตสาหกรรมสนับสนุนเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท" น.ส.สุดจิตร อินทรไทยวงศ์ รองเลขาธิการบีโอไอ กล่าว
ปัจจุบันมูลค่าเงินลงทุนของกลุ่มนี้ปีละประมาณ 120,000 ล้านบาท ทำให้คาดว่าจะมีการลงทุนของอุตสาหกรรมสนับสนุนรวมมูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท โดยช่วง 10 เดือนของปี 50 มีโครงการที่ขอรับส่งเสริมในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่าประมาณ 166,262 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 49 ซึ่งมีมูลค่ารวมประมาณ 127,255 ล้านบาท
และที่ผ่านมา บีโอไอมีหน่วยพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม(BUILD) คอยทำหน้าที่เชื่อมโยงให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนรายย่อยได้พบปะเจรจาซื้อขายกับผู้ซื้อรายใหญ่มาตลอด ซึ่งจากการสำรวจมูลค่าการซื้อขายชิ้นส่วนที่เกิดจากการเข้าร่วมกิจกรรมของหน่วย BUILD ในปี 45-50 มีมูลค่ารวมประมาณ 27,700 ล้านบาท
"ที่ผ่านมา การจัดงาน Subcon Thailand 2007 ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ผู้ออกงานได้ยืนยันในวันสุดท้ายของงานว่ามีมูลค่าการซื้อขายกว่า 1,200 ล้านบาท และมีนักลงทุนบางรายที่ได้เข้าชมงานและเห็นถึงศักยภาพของผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยได้ตัดสินใจที่จะลงทุนในประเทศไทย" น.ส.สุดจิตร กล่าว
สำหรับความพร้อมของงาน Subcon Thailand 2008 ขณะนี้มีบริษัทผู้ซื้อรายใหญ่ตอบรับเข้าร่วมงานแล้วเป็นจำนวนมาก หลังจากประสบความสำเร็จจากการเข้าร่วมงานเมื่อปีที่ผ่านมา อาทิ Mercedes-Benz (Thailand), BMW Group, Robert Bosch, Panasonic Motor (Thailand), Emission Control Technologies, Schnieder Electric Thailand, Magna เป็นต้น
ขณะที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยต่างตอบรับเข้าร่วมงานในครั้งนี้แล้วกว่า 100 ราย โดยมีทั้งกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนรายย่อย กลุ่มคลัสเตอร์แม่พิมพ์ กลุ่มสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย และกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ อาทิ Summit Auto Body, Fuji Asia, Tatung, Single Point Parts, Logistic Mart, Shin-Ei High Tech เป็นต้น
นอกจากนั้น สำนักงานของบีโอไอในต่างประเทศจะนำบริษัทผู้ซื้อจากยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น รวมกว่า 40 ราย เข้าร่วมงาน เพื่อหาบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนในไทยด้วย ซึ่งขณะนี้กลุ่มบริษัทญี่ปุ่นจาก Ota City ได้ยืนยันการร่วมออกบูธในงานแล้ว
"การจัดงาน Subcon Thailand 2008 จะช่วยให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยได้เจรจากับบริษัทผู้ซื้อชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ เป็นจำนวนกว่า 1,500 คู่ และคาดว่าจะเกิดมูลค่าการซื้อขายชิ้นส่วนจากการจัดงานเป็นจำนวนกว่า 2,000 ล้านบาท" น.ส.สุดจิตร กล่าว
ด้าน นายวิโรจน์ เฉลิมรัตนาพร รักษาการผู้อำนวยการโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ สถาบันไทย-เยอรมัน ในฐานะที่ได้ดำเนินโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ กล่าวว่า งาน Subcon Thailand 2008 จะเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยจะได้แสดงศักยภาพและความสามารถให้เป็นที่รู้จักและน่าเชื่อถือในกลุ่มคู่ค้าในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการแม่พิมพ์ไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ
--อินโฟเควสท์ โดย อตฦ/ธนวัฏ/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--