ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY)คาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้น(FED Funds Rate) ลงอีก 0.25% ในการประชุม 11 ธ.ค.นี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาในภาคการเงินส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หลังจากธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ของสหรัฐได้ปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ในบัญชีลงหลายพันล้านดอลลาร์ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาซับไพร์มในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐบางส่วนได้รับผลกระทบจากภาวะตกต่ำของตลาดที่อยู่อาศัยและภาวะตลาดสินเชื่อตึงตัว
สำหรับการประชุมครั้งถัดไปในเดือน ม.ค. 51 เฟดมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก เนื่องจากผลกระทบของภาค
อสังหาริมทรัพย์ และวิกฤตสินเชื่อน่าจะเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นในปี 51 ซึ่งจะเป็นช่วงที่มีบ้านจำนองครบกำหนดสัญญาต้องใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวกว่า 2 ล้านราย ประกอบกับ สถาบันการเงินและบริษัทต่างๆ ทยอยประกาศผลประกอบการในช่วงต้นปี 51 ซึ่งจะสะท้อนว่ามีการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ในบัญชีสืบเนื่องจากปัญหาซับไพร์มอีกมากเพียงใด
นอกจากนี้ ในช่วงปลายเดือน พ.ย. ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยุโรป และอังกฤษ ได้ระดมอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินและขยายระยะเวลาในการให้กู้ยืมจนถึงช่วงต้นปี 51 เป็นการสะท้อนถึงภาวะตึงตัวของตลาดสินเชื่อ (Credit Crunch) ที่ยังคงเป็นปัญหาที่ธนาคารกลางต่างๆ ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะประธานเฟดแสดงความวิตกกังวลต่อตลาดสินเชื่อในขณะนี้ และมีความเห็นว่าธนาคารกลางต้องการความยืดหยุ่นและเตรียมพร้อมอย่างไม่มีข้อจำกัด ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เฟดมีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปเพื่อป้องกันมิให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย
ขณะเดียวกันหากพิจารณาแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้งยุโรปและญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มว่ายังทรงตัวต่อไป โดยคาดว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB)จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม 4.0% ต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากเศรษฐกิจในยุโรปมีแนวโน้มชะลอตัวในช่วงไตรมาส 4/50 จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและเงินยูโรแข็งค่าแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.49 ดอลลาร์/ยูโร ส่งผลกระทบต่อธุรกิจและภาคส่งออก แต่อัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ย. เร่งตัวมาที่ 3.0% เป็นอัตราสูงสุดในรอบ 6 ปี และเป็นระดับที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย 2.0% ทำให้ ECB มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยที่ระดับเดิมหรืออาจปรับขึ้นได้หากเงินเฟ้อยังคงขยายตัวในอัตราเร่ง
ทางด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับปัจจุบัน 0.50% อีกระยะหนึ่ง แม้เศรษฐกิจจะขยายตัวสูงกว่าช่วงที่ผ่านมา เป็นผลจากภาคการผลิตและการส่งออกมีอัตราการเติบโตในเกณฑ์ดี ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือน ต.ค. เพิ่มขึ้น 0.1% จากเดือนเดียวกันปีก่อน
แต่อย่างไรก็ตาม อัตราการจ้างงานปรับลดลงมาสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี รวมทั้งการสูงขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังมีความไม่แน่นอน ขณะที่ภาคการเงินของทั้งยุโรปและญี่ปุ่นอาจได้รับผลกระทบบางส่วนจากปัญหาวิกฤตสินเชื่ออสังหาฯในสหรัฐฯ
ฝ่ายวิจัยฯ จึงมองว่าผลจากมาตรการของรัฐบาลสหรัฐในการช่วยเหลือลูกหนี้ซับไพร์ม ซึ่งน่าจะบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตการณ์ในตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐคลายความรุนแรงลงบางส่วน ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐไม่ชะลอตัวลงรุนแรงเกินควร เมื่อประกอบกับแนวโน้มการทรงตัวของอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางยุโรปและญี่ปุ่น ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐน่าจะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยลงอีกไม่เกิน 2 ครั้งในช่วงครึ่งแรกปี 51 เพราะหากปรับลดมากและรุนแรงเกินไปอาจส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเกินควร และเมื่อประกอบกับราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง การปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจกดดันให้ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นผลร้ายต่อเศรษฐกิจสหรัฐได้
สำหรับผลกระทบของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยคงมีไม่มากนัก เนื่องจากการพิจารณาดอกเบี้ยของไทยน่าจะขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก โดยการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะช่วยทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การเร่งลงทุนในภาครัฐและการดำเนินโครงการ Mega Projects ในบางส่วน จะส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนเร่งตัวขึ้นตาม ทำให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปี 51 ขยายตัวได้ในระดับ 3.0-3.8% และ 7.5-8.5% ตามลำดับ
เมื่อผนวกกับอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน และการปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการในประเทศหลายรายการ รวมทั้งสภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากผลการออกพันธบัตรจำนวนมากของทางการเพื่อระดมทุนและชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จึงคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะทรงตัวในระดับเดิมที่ 3.25% ในครึ่งปีแรก และมีแนวโน้มจะปรับขึ้นได้ในช่วงปลายปี 51 ตามภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศ
--อินโฟเควสท์ โดย อภิญญา วุฒิเมธากุล/อภิญญา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--