วิจัยกรุงศรี ชี้นโยบายการเงินไทยยังต้องผ่อนคลาย แม้ราคาพลังงานโลกดันเงินเฟ้อพุ่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 8, 2022 12:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

วิจัยกรุงศรี ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนก.พ. 65 ที่พุ่งสู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 13 ปี และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากวิกฤตราคาพลังงานที่ได้รับผลกระทบจากสงครามยูเครน โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนก.พ. อยู่ที่ 5.28%YoY เร่งขึ้นจาก 3.23% ในเดือนม.ค. สาเหตุจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานเป็นสำคัญ อาทิ ค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ทางการได้มีมาตรการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ซึ่งจะช่วยตรึงราคาไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร จนถึงเกือบสิ้นเดือนพ.ค. นอกจากนี้ สินค้าในกลุ่มอาหารโดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป และอาหารบริโภคนอกบ้าน มีการปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาหมวดอาหารสดและพลังงาน) เร่งขึ้นมาอยู่ที่ 1.80% สูงสุดในรอบกว่า 7 ปี จาก 0.52% เดือนม.ค. สำหรับในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เฉลี่ยอยู่ที่ 4.25% และ 1.16% ตามลำดับ

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเร่งขึ้นมาก โดยแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 51 และยืนอยู่เหนือกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายของทางการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่ในเดือนถัดไปยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ทะยานสูงขึ้นกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่มีความเสี่ยงจะยืดเยื้อ แรงกดดันทางด้านราคาโดยเฉพาะในหมวดพลังงานจึงเพิ่มขึ้นกว่าคาด กระทบต้นทุนการผลิตปรับเพิ่ม อัตราเงินเฟ้อในปีนี้ จึงมีโอกาสสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 2.7%

ด้านแรงกดดันด้านเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งขึ้นกว่าคาด โดยมีสาเหตุสำคัญจากการพุ่งขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะราคาพลังงานที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์ความรุนแรงในยูเครน อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวยังอาจสร้างความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย

นอกจากนี้ การระบาดของไวรัสโอมิครอนในประเทศ ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มาอยู่ในระดับสูงกว่า 2 หมื่นรายต่อวัน อาจบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการท่องเที่ยวในประเทศ

"เพื่อช่วยประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งนับว่ามีความอ่อนแอ และเปราะบางอยู่มาก วิจัยกรุงศรี จึงยังคงคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะถูกตรึงไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.50% ตลอดทั้งปี 65 ซึ่งแม้มีปัจจัยบวกอยู่บ้าง แต่ความเสี่ยงจากวิกฤตยูเครนที่ทวีความรุนแรง อาจกดดันการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว" บทวิเคราะห์ระบุ

ล่าสุด การประชุมคณะรัฐมนตรี (1 มี.ค. 65) มีมติเห็นชอบการจัดทำความตกลง Air Travel Bubble ระหว่างไทย-อินเดีย ซึ่งจะเป็นการปูทางไปสู่การกลับมาเปิดเที่ยวบินพาณิชย์ระหว่างประเทศได้ภายในเดือนมี.ค.นี้ หลังจากถูกระงับไปตั้งแต่เดือนมี.ค. 63 เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

สำหรับในปี 62 หรือช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ไทยมีนักท่องเที่ยวอินเดียราว 2 ล้านคน หรือคิดเป็น 5% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม แต่หลังจากไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวด้วยมาตรการ Test & Go ยังมีนักท่องเที่ยวอินเดียเข้ามาเพียง 7,671 คน (พ.ย. 64-ม.ค. 65) หรือคิดเป็น 1.6% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม ทั้งนี้ คาดว่าการจัดทำความตกลงดังกล่าว จะช่วยอำนวยความสะดวก และสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางมาไทยมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวว่าจีนเริ่มหาแนวทางยกเลิกนโยบาย Zero Covid ซึ่งหากเกิดขึ้นได้เร็ว คาดว่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวไทย

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังเป็นปัจจัยลบที่ต้องติดตาม โดยล่าสุดเดือนม.ค. นักท่องเที่ยวรัสเซียมีจำนวนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง 23,761 คน (สัดส่วน 17.7% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม) เทียบกับในช่วงก่อนเกิดวิกฤตการระบาดอยู่ที่ 1.5 ล้านคน (สัดส่วน 3.7%) แต่หากสถานการณ์ทวีความรุนแรงและยืดเยื้อ อาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อนักท่องเที่ยวจากยุโรป ซึ่งนับเป็นตลาดสำคัญของไทยนับตั้งแต่มีการเปิดประเทศ

ในส่วนของเศรษฐกิจโลก สงครามในยูเครน การคว่ำบาตร และการตอบโต้ที่ทวีความรุนแรง เพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจโลก วิกฤตยูเครนรุนแรงกว่าคาด เพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในยุโรป สถานการณ์ขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนรุนแรงขึ้น โดยกองกำลังทหารของรัสเซีย ได้เข้ายึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของยูเครน ขณะที่ประธานาธิบดีปูติน ยืนกรานใช้กำลังเพื่อยุติการต่อต้านรัสเซีย

ด้านสหภาพยุโรปและชาติพันธมิตร ประกาศคว่ำบาตรธนาคารกลางรัสเซีย ซึ่งจะมีผลให้ไม่สามารถใช้ทุนสำรองได้ นอกจากนี้ยังปิดกั้นธนาคารรัสเซีย 7 แห่งจากระบบชำระเงินระหว่างธนาคารทั่วโลก (SWIFT) รวมทั้งการปิดน่านฟ้าต่ออากาศยานรัสเซีย การคว่ำบาตรที่รุนแรงส่งให้มีแรงเทขายสินทรัพย์รัสเซีย ขณะที่ตราสารหนี้ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ค่าเงินรูเบิลร่วงถึง 30% YTD ธนาคารกลางรัสเซียจึงได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 9.5% เป็น 20.0% วิกฤตที่ลุกลามสู่ภาคเศรษฐกิจและการเงินอาจส่งผลให้รัสเซียเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

ทั้งนี้ ความตึงเครียดจากการโจมตียูเครน เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะภูมิภาคยูโรโซน ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประเมินว่าความเสียหายเบื้องต้นอาจทำให้ GDP ของยูโรโซนลดลงประมาณ 0.3%-0.4% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 4.2%

วิจัยกรุงศรี มองว่า ความขัดแย้งที่มีแนวโน้มลากยาว และรุนแรงยิ่งขึ้น จะเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อจากราคาพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์ โดยราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ยุโรปและชาติพันธมิตร อาจห้ามการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย และความขัดแย้งยังอาจส่งผลต่อภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ ซึ่งจะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกโดยรวม นอกจากนี้ ล่าสุดธนาคารโลกระบุว่า สงครามในยูเครนถือเป็นหายนะที่จะบั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ แม้เผชิญความไม่แน่นอนจากสงครามในยูเครน แต่ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ตึงตัว อาจกดดันเฟดให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนนี้ โดยในเดือนก.พ. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและบริการแตะระดับ 55.9 ดีขึ้นจากเดือนก่อน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 63 ด้านการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 6.78 แสนตำแหน่งสูงสุดในรอบ 4 เดือน ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่การแพร่ระบาดที่ 3.8% ส่วนค่าจ้างเฉลี่ยรายชั่วโมงเพิ่มสู่ระดับ 34.7 ดอลลาร์และดีกว่าที่ตลาด โดยล่าสุดจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 ก.พ. แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นปีที่ 2.15 แสนราย

อย่างไรก็ดี ถึงเฟดจะประเมินผลกระทบจากความตึงเครียดในยูเครนว่า "มีความไม่แน่นอนอย่างมาก" แต่ตัวเลขกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานของสหรัฐฯปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ประธานเฟดระบุว่า เงินเฟ้อที่พุ่งสูงและตลาดแรงงานที่ตึงตัวอย่างมาก ถือเป็นสาเหตุที่ทำให้เฟดจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมี.ค. นี้ สำหรับอัตราค่าจ้างที่สูงขึ้นกว่าคาด อาจเพิ่มแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้ออย่างเป็นวงจรต่อเนื่อง (Wage-price spiral) ในส่วนของวิจัยกรุงศรีคาดว่า เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ย 5 ครั้งในปีนี้ โดยจะเริ่มปรับขึ้น 25 bps ในการประชุมเดือนมี.ค.

ด้านเศรษฐกิจจีน มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น ขณะที่ทางการกำหนดเป้าหมายการเติบโตสูงกว่าคาด พร้อมรับมือความเสี่ยงในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ในเดือนก.พ. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและนอกภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้น (51.2 จาก 51.0 ในเดือนม.ค.) นำโดย PMI นอกภาคการผลิต (51.6 จาก 51.1) ส่วน PMI ภาคการผลิตทรงตัวจากเดือนก่อน (50.2 จาก 50.1)

ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย จากสถานการณ์การระบาดที่บรรเทาลง รวมทั้งปัจจัยบวกจากมาตรการด้านการเงินและการคลัง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนยังอาจเผชิญความไม่แน่นอนจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยล่าสุด รัฐบาลได้สั่งการให้รัฐวิสาหกิจและรัฐบาลท้องถิ่น เร่งสำรองสินค้าจากแหล่งอื่น เนื่องจากจีนต้องพึ่งพาการนำเข้าจากรัสเซียในหลายรายการ เช่น นิกเกิล อะลูมิเนียม พัลลาเดียม น้ำมันจากธัญพืช เป็นต้น

ด้านการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ และสภาที่ปรึกษาทางการเมือง รัฐบาลได้ประกาศเป้าหมายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ไว้ที่ 5.5% แม้สูงกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ (IMF คาดไว้ที่ 4.8%) แต่ต่ำสุดในรอบกว่า 30 ปี ส่วนเป้าหมายการขาดดุลทางการคลัง ลดลงสู่ 2.8% ต่อ GDP (จาก 3.2%) แต่เร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น สะท้อนการดูแลเศรษฐกิจมิให้ชะลอตัวรุนแรง และรับมือกับความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่กำลังเพิ่มขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ