นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง กล่าวว่า การที่สหรัฐฯ ออกมาตรการดูแลปัญหาซับไพร์มชี้ให้เห็นว่าสหรัฐฯ ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาภายในประเทศซึ่งทุกคนต่างเชื่อว่าปัญหาซับไพร์มจะมีผลต่อเศรษฐกิจ แต่เมื่อหลังจากที่ทางการสหรัฐฯ ได้ออกมาตรการแก้ไขจึงเชื่อว่าปัญหาดังกล่าวจะไม่บานปลายและทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ชะลอตัว ไม่ทำให้การค้าระหว่างประเทศตกต่ำ
ผลของการออกมาตรการดังกล่าวของสหรัฐฯ จะส่งผลดีต่อไทย เพราะหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ชะลอตัวเกินไป เชื่อว่าการส่งออกของไทยจะโตได้ถึง 2 หลัก เพราะเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี โดยปี 51 มั่นใจว่าจะโตได้เกิน 5% เพราะเศรษฐกิจในปี 50 มีฐานการบริโภคและการลงทุนที่ขยายตัวในอัตราต่ำ แต่ปี 51 การบริโภคและการลงทุนน่าจะขยายตัวได้ดี
"ไตรมาสแรกปีหน้าคาดว่าการบริโภคน่าขยายตัวได้ในระดับสูง โดยเฉพาะการซื้อขายรถยนต์เพราะรัฐบาลออกมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ประหยัดพลังงานซึ่งจะมีรถยนต์ที่ใช้ E20 ออกมาใช้ในตลาด โดยรัฐลดภาษีให้คันละ 5 หมื่นบาท และราคาของ E20 มีราคาถูกกว่าน้ำมันถึงลิตรละ 5 บาท จูงใจให้ประชาชนซื้อรถยนต์ประเภทนี้มากขึ้นและช่วยกระตุ้นการบริโภค ขณะที่การส่งออกยังขยายตัวได้ดี การลงทุนภาคเอกชนเริ่มขยายตัวจากทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งต่างชาติเริ่มขยายฐานการลงทุนมากขึ้น" รมว.คลัง กล่าว
ขณะที่ปี 50 คาดว่าจะโตได้ 4.5% โดยไตรมาส 4 ปีนี้ คาดว่าจีดีพีจะโตเกิน 5% เนื่องจากมีแรงกระตุ้นจากการทำงบประมาณแบบขาดดุลและการส่งออกในต.ค. 50 ที่ขยายตัวได้ถึง 26.7% จาก 3 ไตรมาสแรกจีดีพีเฉลี่ยโต 4.5%
รมว.คลัง กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจไทยในปีหน้าที่หลายฝ่ายมองว่าจะเป็นภาวะข้าวยากหมากแพงนั้น ยอมรับว่าเงินเฟ้ออาจปรับตัวสูงขึ้นบ้างซึ่งขึ้นอยู่กับราคาน้ำมัน แต่ก็ไม่ควรตื่นตระหนกมากเกินไปเพราะตลาดน้ำมันขณะนี้มีการเก็งกำไรสูง ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกขึ้นไปถึง 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และได้ปรับลดลงอีก ประกอบกับตลาดเงินและตลาดทุนโลกต่างมีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา เพราะมีความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงจึงเห็นว่าไม่ควรจะตื่นตระหนกกับภาวะดังกล่าวมากเกินไป
ส่วนปัจจัยการเมืองมองว่าแม้หลังการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่จะเป็นรัฐบาลผสม แต่คงไม่มีปัญหาต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเชื่อว่าการวางแนวนโยบายไม่ได้ต่างจากอดีตมากนัก ซึ่งส่วนใหญ่จะวางแนวนโยบายดูแลเศรษฐกิจเป็นแบบเศรษฐกิจเสรี และมีการแทรกแซงจากภาครัฐบ้าง จึงเชื่อว่าไม่ใช่ความขัดแย้งในการวางนโยบายเศรษฐกิจ
นายฉลองภพ เห็นว่า รัฐบาลใหม่ไม่ว่าจะอยู่ในวาระเพียง 1 หรือ 2 ปีก็ตาม หากดูและเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมได้ จึงเชื่อว่าไม่น่ามีปัญหา แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงหลังการเลือกตั้งคือการกลับไปสู่ความขัดแย้งทางสังคมอย่างรุนแรงเหมือนช่วงก่อนการปฏิวัติ ซึ่งสะท้อนได้ว่า 1 ปีที่ผ่านมา การดำเนินนโยบายต่างๆ ไม่ได้ผล แต่เชื่อว่าหลังการเลือกตั้งแล้วประเทศไทยไม่น่าจะกลับไปสู่จุดนั้นอีก
--อินโฟเควสท์ โดย คลฦ/กษมาพร/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--