(เพิ่มเติม) ม.หอการค้า ห่วงสงครามยูเครนยืดเยื้อเลวร้ายสุดอาจดันเงินเฟ้อทั้งปีพุ่ง 4.5-5.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 9, 2022 13:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) ม.หอการค้า ห่วงสงครามยูเครนยืดเยื้อเลวร้ายสุดอาจดันเงินเฟ้อทั้งปีพุ่ง 4.5-5.5%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยแบ่งเป็น 3 กรณี จากกรณีฐานเดิมที่เคยคาดการณ์ (ณ พ.ย.64) ว่า เศรษฐกิจไทยปี 65 จะขยายตัวได้ 4.2% และอัตราเงินเฟ้อที่ 3.5% ดังนี้

1.กรณีแย่ (ความขัดแย้งจบภายใน 3 เดือน) คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบราว 73,400 ล้านบาท ส่งผลให้ GDP ลดลง 0.5% หรือลงมาอยู่ที่ 3.7% ในปี 65 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ 3.0-3.5%

2.กรณีแย่กว่า (ความขัดแย้งจบภายใน 6 เดือน) คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบราว 146,800 ล้านบาท ส่งผลให้ GDP ลดลง 0.9% หรือลงมาอยู่ที่ 3.3% ในปี 65 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ 3.5-4.5%

3.กรณีแย่ที่สุด (ความขัดแย้งยืดเยื้อตลอดปี 65) คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบราว 244,700 ล้านบาท ส่งผลให้ GDP ลดลง 1.5% หรือลงมาอยู่ที่ 2.7% ในปี 65 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ 4.5-5.5%

"ถ้าสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ยืดเยื้อไปตลอดทั้งปีนี้ เศรษฐกิจไทยก็มีโอกาสที่จะเติบโตอยู่ในระดับ 2% ได้ ขณะที่เงินเฟ้อจะขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 5% ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของไทยเข้าสู่ภาวะ stagflation ในทางเทคนิคได้" นายธนวรรธน์ ระบุ

ทั้งนี้ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยดังกล่าว เป็นเฉพาะกรณีปัญหารัสเซีย-ยูเครนเท่านั้น ยังไม่รวมผลกระทบจากปัจจัยอื่นที่สำคัญในปีนี้ เช่น การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปให้ชัดเจน เนื่องจากสถานการณ์ยังมีความไม่นิ่ง และ ม.หอการค้าไทย จะยังไม่ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ ไปจากเดิมที่เคยคาดไว้เมื่อช่วงเดือนพ.ย.64 แต่จะรอดูแนวโน้มและสถานการณ์อีกครั้ง ก่อนที่จะปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ใหม่ในช่วงเดือนเม.ย. 65

นายธนวรรน์ กล่าวด้วยว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ มีโอกาสจะหลุดจากกรอบประมาณการที่ 3.6-4.5% (ค่าเฉลี่ย 4.2%) โดยอาจลดลงมาอยู่ในกรอบ 2-4% ได้ ถ้าหากราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นไปเกินกว่าระดับ 140 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ยังมีความยืดเยื้อหรือรุนแรงมากขึ้น ในขณะที่ปัจจัยเรื่องการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนยังคงมีอยู่

พร้อมมองว่า รัฐบาลจะต้องเลือกใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไทยต้องซึมตัวลง รวมทั้งการรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในกรอบ 32.50 - 33.00 บาท/ดอลลาร์ เพื่อเอื้อต่อความสามารถในการแข่งขันของไทย

ด้านนายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลกระทบที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ต่อประเทศไทย จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่เห็นได้ชัดเจนในขณะนี้ คือ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น สินค้ากลุ่มธัญพืชและผลิตภัณฑ์ธัญพืชปรับตัวสูงขึ้น เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด ตลอดจนปุ๋ยเคมี เนื่องจากสินค้าไทยมีการนำเข้าสินค้าในกลุ่มดังกล่าวจากทั้งรัสเซียและยูเครนในแต่ละปีมีมูลค่าสูงกว่าระดับ 100 ล้านบาท

สำหรับผลกระทบทางตรงต่อเศรษฐกิจไทย จากกรณีความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ใน 4 ด้าน คือ

1. มูลค่าการส่งออกไปยังพื้นที่พิพาท มีแนวโน้มที่จะสูญเสียไปประมาณ 70-90% จากฐานเดิมในปี 64 เนื่องจากกำลังซื้อในพื้นที่ลดลงมาก การขนส่งสินค้ามีความยุ่งยาก ใช้เวลานาน และมีต้นทุนสูงขึ้น รวมถึงการชำระเงินค่าสินค้าอาจไม่มีความน่าเชื่อถือ

2. รายได้จากนักท่องเที่ยวที่มาจากพื้นที่พิพาท มีแนวโน้มที่จะสูญเสียไปประมาณ 80-100% จากฐานเดิมในปี 64 เนื่องจากกำลังซื้อในพื้นที่ลดลงมาก การเดินทางมีความยุ่งยาก และมีต้นทุนสูงขึ้น รวมถึงค่าเงินที่อ่อนค่าลงอย่างมาก

3. รายได้ส่งกลับจากแรงงานที่ไปทำงานในพื้นที่พิพาท มีแนวโน้มที่จะสูญเสียไปประมาณ 60-100% จากฐานเดิมในปี 64 เนื่องจากธุรกิจในพื้นที่พิพาทมีแนวโน้มจะปิดตัวลง จากผลของมาตรการคว่ำบาตร และค่าครองชีพที่สูงขึ้น

4. ต้นทุนวัตถุดิบที่ต้องจัดหาทดแทนจากพื้นที่อื่นๆ เพิ่มขึ้น หากธุรกิจใดเคยจัดหาวัตถุดิบจากพื้นที่พิพาทในสัดส่วนที่สูง เช่น ธุรกิจผลิตอาหารสัตว์ ก็จะได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนวัตถุดิบ และอาจจะมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นหากต้องจัดหาวัตถุดิบจากพื้นที่อื่นที่อาจจะแพงกว่า หรือไกลกว่า

ส่วนผลกระทบทางอ้อม จากกรณีความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ใน 4 ด้าน ดังนี้

1. อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบมีโอกาสเพิ่มขึ้นทะลุ 120 ดอลลาร์/บาร์เรล ทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น ผู้ขายปรับขึ้นราคาสินค้าเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่สูงขึ้น

2. ค่าเงินบาทผันผวน ตลาดเงินโลกมีความผันผวนจากมาตรการคว่ำบาตรของประเทศต่างๆ ที่มีต่อรัสเซีย รวมทั้งความเสี่ยงจาการผิดนัดชำระหนี้ของภาคเอกชนรัสเซียที่เพิ่มสูงขึ้น

3. การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนชะลอตัวลง ซึ่งจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น และความมั่งคั่งที่ลดลงจากความผันผวนในตลาดทุนของไทย จะกดดันให้ภาคเอกชนลดการใช้จ่ายลง

4. มูลค่าการส่งออกสินค้าไปยังพื้นที่อื่นๆ ชะลอตัวลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะยุโรปมีโอกาสชะลอตัว และเกิดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตชิป ซึ่งจะกดดันให้มูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 65 ลดลงได้

5. รายได้นักท่องเที่ยวจากพื้นที่อื่นๆ ชะลอตัวลง จากผลของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะในยุโรปที่มีผลกดดันให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าไทยในปี 65 ลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ