นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ประเมินสถานการณ์การสู้รับระหว่างรัสเซียและยูเครนว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โครงการต่างๆ ยังเดินหน้าต่อ ทั้งเรื่อง 5G และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ยังคงเดินหน้าตามแผน โดยยังเชื่อมั่นว่าการลงทุนใน EEC ยังเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ที่ 4 แสนล้านบาท แต่หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น อาจส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจโลก และอาจจะมีผลกระทบบ้างในส่วนของราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น
นายคณิศ มองว่า สถานการณ์รัสเซียและยูเครน ยังถือว่าเป็นเรื่องที่ไกลมากสำหรับประเทศไทย และโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ก็เป็นโครงการที่เน้นการลงทุนในไทยเป็นหลัก และคาดว่าจากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียยูเครนนั้น จะเห็นผลกระทบชัดเจนในช่วงเวลา 1 เดือนหลังจากนี้ ซึ่งจะมีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า สถานการณ์โควิดอาจมีผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่ได้ประมาณการว่าจะมี 6 ล้านคนว่าจะเป็นไปตามเป้าหรือไม่
"ถือเป็นโชคดีของ EEC ที่ได้มีการเซ็นสัญญาไปแล้ว 4 โครงการใหญ่ก่อนโควิดระบาด เพราะหากต้องมาเซ็นสัญญาตอนนี้คงยาก อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า โครงการใดที่เซ็นสัญญาร่วมทุนไปแล้วให้เดินหน้าไปให้ได้ และทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย โปร่งใส และมีความเป็นธรรมกับคู่สัญญา ซึ่งต้องดูแลส่วนนี้ให้ดี" นายคณิศ กล่าว
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 2/2565 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานว่า นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการขับเคลื่อนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วยความรอบคอบ และถูกต้องตามกฎหมาย โปร่งใส เป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยดำเนินการอย่างรวดเร็วสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งภายในประเทศและสถานการณ์โลก โดยเชื่อมั่นว่าทุกคนจะร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินการต่าง ๆ ไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ นายกฯ มอบหมายกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ร่วมกันพิจารณาดำเนินการในรายละเอียดให้ชัดเจน เกี่ยวกับการขับเคลื่อนศูนย์กลางการเงินในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเพื่อเตรียมการล่วงหน้าในทุกมิติ โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนและประเทศจะได้รับด้วย
พร้อมกำชับให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และ กพอ. จัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนในเรื่องแผนการลงทุนใน EEC ที่มีอยู่จำนวนมากให้ดำเนินการอย่างรอบคอบ มีการเชื่อมต่ออย่างเป็นระบบ ต่อยอดสิ่งที่มีอยู่แล้วให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น และมุ่งเน้นกิจกรรมที่จะสร้างประโยชน์กับคนในพื้นที่ในระยะแรก ก่อนพัฒนาขยายผลไปสู่ส่วนอื่น ๆ ต่อไป
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ตามเป้าหมาย โดยดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่เอื้อประโยชน์ต่อบุคคลใด คำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนและประเทศชาติจะได้รับเป็นสำคัญ อีกทั้ง นายกรัฐมนตรียังให้ความสำคัญกับโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) และการส่งสินค้าประเภทต่าง ๆ ของไทย รวมทั้งผลไม้ไปยังต่างประเทศ โดยมอบหมายกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปเจรจาหารือเพื่อดำเนินการให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ทั้งการบริหารจัดการระบบขนส่ง ตู้คอนเทนเนอร์และห้องเย็นให้เพียงพอ พร้อมเน้นย้ำให้มีการตรวจสอบสินค้าทุกประเภทให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และอยู่ในมาตรฐานเป็นที่ยอมรับระดับสากล ก่อนส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยอาจแสวงหาความร่วมมือกับภาคเอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการด้วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น
พร้อมเน้นย้ำให้มีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้กับประชาชนในพื้นที่ให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับทั้งในระดับพื้นที่และโดยรวมของประเทศ อันจะนำไปสู่ความร่วมมือของประชาชนทุกภาคส่วนในสังคมและลดปัญหาความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต