ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าฯ ก.พ.ลดทุกภูมิภาค กังวลโอมิครอน, ปัญหารัสเซีย-ยูเครน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 9, 2022 15:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) ประจำเดือนก.พ. 65 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจและหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 21-25 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 36.1 ลดลงจากระดับ 37.2 ในเดือน ม.ค. 65

โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้

  • กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 35.4 ลดลงจากเดือน ม.ค.65 ซึ่งอยู่ที่ 36.6
  • ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 37.2 ลดลงจากเดือน ม.ค.65 ซึ่งอยู่ที่ 38.2
  • ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 39.7 ลดลงจากเดือน ม.ค.65 ซึ่งอยู่ที่ 40.9
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 36.2 ลดลงจากเดือน ม.ค.65 ซึ่งอยู่ที่ 37.1
  • ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 35.5 ลดลงจากเดือน ม.ค.65 ซึ่งอยู่ที่ 36.5
  • ภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 33.9 ลดลงจากเดือน ม.ค.65 ซึ่งอยู่ที่ 35.0

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยลดลงในทุกภาค โดยจะเห็นได้ว่าภาคธุรกิจเริ่มมีความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในรัสเซียและยูเครน เนื่องจากมีผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย โดยเฉพาะในภูมิภาคที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล เช่น ภาคตะวันออก และภาคใต้

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือน ก.พ.65 มีดังนี้

  • ปัจจัยลบ ได้แก่

1. ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย โดยเฉพาะไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ที่มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มของผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

2. ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย

3. ราคาสินค้าในบางรายการ โดยเฉพาะวัตถุดิบมีระดับราคาที่สูง ส่งผลต่อค่าครองชีพ และกำลังซื้อสินค้าของประชาชน และรายได้ของธุรกิจ

4. ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น

5. เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

6. การปรับนโยบายและแนวทางการรักษาแก่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยที่ยังมีความไม่แน่นอน

  • ปัจจัยบวก ได้แก่

1. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เผย GDP ไตรมาส 4/64 ขยายตัว 1.9% จากการลดลง 0.2% ในไตรมาส 3/64

2. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง และโอมิครอนสร้างผลกระทบสาธารณสุขในวงจำกัด ทำให้ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยลดลง

3. มาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจจากภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ช้อปดีมีคืน โครงการคนละครึ่ง เฟส 4 มาตรการขยายระยะเวลาการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย เป็นต้น

4. การฉีดวัคซีนป้องกันโควิดของทั้งโลก ทำให้สถานการณ์โควิด-19 ในระดับโลกปรับตัวดีขึ้น และการฉีดวัคซีนโควิดในประเทศเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมมากขึ้น

5. การส่งออกของไทยเดือน ธ.ค.64 ขยายตัว 7.98% มูลค่า 21,258.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

6. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น หรือทรงตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น

7. ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ มีการปรับตัวลดลงที่ 0.80 บาทต่อลิตร

สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ มีดังนี้

1. หาแนวทางป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากสงครามรัสเซียกับยูเครน

2. หาแนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

3. มาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาราคาน้ำมัน ราคาก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน

4. มาตรการบรรเทาภาระหนี้สิน แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ครอบคลุมทุกมิติ

5. เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และเพิ่มรายได้ให้ประชาชน เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้แก่ ประชาชนอย่างทั่วถึงและเสมอภาค

6. มาตรการการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ โดยควรจะเร่งรัดการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ให้มีเม็ดเงินกระจายลงไปในพื้นที่ทั้งโครงการ EEC และโครงสร้างพื้นฐานสร้างความเชื่อมโยง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ