ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 33.08 กลับมาแข็งค่าจากช่วงเช้า หวังสถานการณ์ขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนคลี่คลาย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 9, 2022 17:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ 33.08 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าจาก เปิดตลาดเมื่อเช้าที่ระดับ 33.13 บาท/ดอลลาร์

เงินบาทแข็งค่าจากช่วงเช้า โดยระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 33.08 - 33.23 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากตลาดมี ความหวังมากขึ้นว่าสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนอาจคลี่คลายลง ในขณะเดียวกัน เริ่มเห็นสัญญาณราคาน้ำมันปรับตัวลด ลงบ้าง ขณะที่ตลาดหุ้นฝั่งยุโรปปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก ด้านสกุลเงินภูมิภาคเป็นแบบผสมทั้งแข็งค่าและอ่อนค่า

"วันนี้บาทปิดที่ระดับ 33.08 บาท/ดอลลาร์ ถือว่าแข็งค่ามากที่สุดของวัน เนื่องจากข่าวบวก มีการไล่ราคาหุ้นขึ้นมาเยอะใน ช่วงบ่าย" นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ไว้ที่ 32.95 - 33.20 บาท/ดอลลาร์ สำหรับปัจจัยที่ ต้องติดตาม ยังเป็นสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน และราคาน้ำมัน

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 115.82 เยน/ดอลลาร์ จากเมื่อเช้าที่ระดับ 115.89 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0983 ดอลลาร์/ยูโร จากเมื่อเช้าที่ระดับ 1.0918 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,643.64 จุด เพิ่มขึ้น 24.54 จุด (+1.52%) มูลค่าการซื้อขาย 115,052 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 4,129.33 ลบ. (SET+MAI)
  • ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินผลความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่จะกระทบ
ต่อเศรษฐกิจไทย โดยหากสถานการณ์ยืดเยื้อตลอดทั้งปี 65 (กรณีเลวร้ายสุด) คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบราว 2.44 แสนล้าน
บาท กด GDP ปีนี้เหลือโต 2.7% ขณะที่เงินเฟ้อพุ่งไปที่ 4.5-5.5% ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น จะทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะ stagflation
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.พ. 65 อยู่ที่ระดับ 43.3 ลดลงจากเดือนม.ค.65 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 44.8 ลดลงต่อเนื่องเป็น
เดือนที่ 2 และต่ำสุดในรอบ 5 เดือน โดยมีปัจจัยกดดันจากความกังวลสถานการณ์ระบาดของไวรัสโอมิครอน, ปัญหาความขัดแย้งรัสเซีย-
ยูเครน, ราคาน้ำมันในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น, เงินบาทแข็งค่า และความกังวลต่อปัญหาค่าครองชีพ สินค้ามีราคาแพงขึ้น
  • ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำ มี.ค.65 อยู่ที่ 76.20 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 6.06 จุด หรือคิดเป็น 8.64% จากระดับ 70.14
จุดในเดือน ก.พ.65 โดยปัจจัยที่ทำให้ดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้นมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำมัน ความต้องการ
ซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อในสหรัฐฯ และแรงซื้อเก็งกำไร
  • กระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 มีผู้ใช้สิทธิทั้งหมดจำนวน 26.24 ล้านราย และ
ยอดการใช้จ่ายรวม 52,376.4 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 26,620.3 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่าย 25,756.1 ล้านบาท
  • เจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารโลก ระบุว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังคงดีดตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่รัสเซียเปิด
ฉากบุกยูเครน อาจทำให้ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่หดตัวลง อาทิ จีน,
อินโดนีเซีย, แอฟริกาใต้ และตุรกี
  • ราคาบิตคอยน์ พุ่งขึ้นทะลุระดับ 41,000 ดอลลาร์ในช่วงบ่ายวันนี้ หลังจากนางเจเน็ต เยลเลน รมว.คลังสหรัฐ ได้กล่าว
ชื่นชมทำเนียบขาวที่เตรียมออกคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อกำหนดให้หน่วยงานของรัฐบาลเร่งทำการศึกษาข้อดีและข้อเสียของการใช้คริปโทเคอร์
เรนซี
  • เลขาธิการองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ออกโรงเตือนว่าโลกเสี่ยงขาดแคลนน้ำมัน หลังนานาชาติคว่ำ
บาตรรัสเซีย และไม่อาจหาน้ำมันมาทดแทนส่วนแบ่งการส่งออกน้ำมันของรัสเซียได้ พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการใช้พลังงานมาเป็น
เครื่องต่อรองทางการเมือง
  • นักวิเคราะห์หลายสำนักเตือนว่า มาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียของสหรัฐอาจทำให้ราคาน้ำมันและราคา
อาหารดีดตัวรุนแรงขึ้น
  • นักวิเคราะห์จากซิตี้กรุ๊ป ระบุว่า วิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน จะสร้างความเสียหายต่อการขยายตัวของ
เศรษฐกิจโลก ขณะที่ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งทะยานขึ้น อย่างไรก็ดี การสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของจีน รวมถึงความแข็ง
แกร่งในตลาดแรงงานสหรัฐจะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น
  • แบงก์ ออฟ อเมริกา (BofA) คาดธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเล็กน้อย ให้กลับไปใกล้เคียง

กับระดับปกติในปีนี้ โดยในระยะใกล้ BOJ อาจออกนโยบายพิเศษเพื่อปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย และเพื่อให้ผลตอบแทนจากตราสารหนี้ระยะ

ยาวที่ซื้อขายกัน มีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ