พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ออกเดินทางจากท่าอากาศยานดอนเมือง กรุงเทพฯ ไปเป็นประธานเปิด "เที่ยวบินปฐมฤกษ์ ท่าอากาศยานเบตง จังหวัดยะลา" ณ อาคารที่พักผู้โดยสาร ท่าอากาศยานเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา
โดยนายกรัฐมนตรี จะเยี่ยมชมท่าอากาศยานนานาชาติเบตง และนิทรรศการ OTOP จังหวัดยะลา พร้อมพบปะกลุ่มตัวแทนชาวยะลา และมอบถุงกำลังใจให้แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบางในพื้นที่จังหวัดยะลา ที่ประสบอุทกภัย
สำหรับสนามบินเบตง มีพื้นที่ประมาณ 7,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วนได้ประมาณ 300 คนต่อชั่วโมง และรองรับผู้โดยสารได้กว่า 800,000 คนต่อปี รันเวย์มีขนาดความยาว 1,800 เมตร รองรับได้เฉพาะอากาศยานขนาดเล็ก
ทั้งนี้ การสร้างสนามบินเบตง เพื่อแก้ปัญหาการเดินทางสู่อำเภอเบตง ที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน ไม่สะดวกต่อการเดินทาง ให้สัญจรไปมาได้สะดวกปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่ และการลงทุนภายในประเทศและต่างประเทศ
นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเปิด "เที่ยวบินปฐมฤกษ์ ท่าอากาศยานเบตง จังหวัดยะลา" ว่า รัฐบาลพยายามผลักดันส่งเสริมให้เมืองเบตงเป็นต้นแบบในด้านการท่องเที่ยว และการค้าชายแดน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในการเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวในพื้นที่ รวมทั้งการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น โดยอำเภอเบตงเป็นอำเภอที่มีศักยภาพการพัฒนาทั้งด้านเศรฐกิจ สังคม ถือเป็นเมืองชายแดนที่มีการเคลื่อนไหวทางด้านธุริจการค้า ประกอบกับประชาชนอยู่ร่วมกันเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ตลอดจนเป็นเมืองที่มีธรรมชาติสวยงาม จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเดินทางมาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ รัฐบาลได้เร่งพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านคมนาคมให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถรองรับการให้บริการทั้งในด้านการขนส่งและการเดินทางต่อเนื่องหลายรูปแบบ รวมทั้งที่ท่าอากาศยานเบตงแห่งนี้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ถือเป็นการสนับสนุนการขนส่งทางอากาศ และเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและบริการนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างเพียงพอ
นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า ในส่วนตัวมีความกังวลในสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยาวนานหลายปีว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการพัฒนาภาคใต้ให้ทัดเทียมกับภาคอื่นๆ จึงมีการเริ่มสร้างสนามบินตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งกว่าจะแล้วเสร็จในวันนี้ ต้องใช้เวลาสร้างความเข้าใจชี้แจงประเด็นต่าง ๆ และขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ร่วมมือกันผลักดันจนเกิดความสำเร็จในวันนี้
พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันด้วยว่า รัฐบาลยังมีเสถียรภาพ และมุ่งมั่นแก้ปัญหาให้กับประชาชน ซึ่งรัฐบาลเข้ามาแก้ไขเรื่องในอดีต ทำปัจจุบันให้ดีขึ้น และสร้างอนาคตไว้ภายใต้เศรษฐกิจใหม่ เน้นการลงทุนจากต่างประเทศและในประเทศในอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อสร้างจีดีพีของประเทศให้สูงขึ้น ขออย่าสร้างความเกลียดชังซึ่งกันและกัน ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องร่วมมือร่วมรักสามัคคีกันให้ได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะแก้ปัญหาให้ผ่านพ้นไปได้อย่างไร
"ครม. รัฐบาล พรรคร่วม ยืนยันว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อตอบแทนแผ่นดินผืนนี้...ขออย่าท้อแท้ อย่าให้ร้ายตัวเอง อย่าให้ร้ายประเทศตัวเอง ทุกอย่างจะสามารถเดินไปได้ทั้งหมด" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พร้อมกับฝากให้ ส.ส.ในพื้นที่สร้างความเข้าใจให้กับประชาชน และขอให้ชาวยะลารักษาและต่อยอดให้สนามบินเบตงเป็นศูนย์กลางการคมนาคมในภาคใต้ และเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ พัฒนาความเป็นอยู่ให้คุณภาพชีวิตมันคงมั่งคั่งและยั่งยืนต่อไป
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า อำเภอเบตงมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดรายได้ให้กับจังหวัดยะลา รองจากอำเภอเมืองยะลา แต่การเดินทางในปัจจุบันต้องอาศัยการเดินทางทางถนนเป็นหลัก ซึ่งสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน ถนนแคบและคดเคี้ยวลาดชันเป็นช่วงๆ ทำให้ไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางจากอำเภอเบตงไปยังเมืองอื่น ๆ ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการคมนาคมของอำเภอเบตงและพื้นที่ใก้ลเคียง ท่าอากาศยานเบตงจึงเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางการบินสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เป็นอย่างดี
ท่าอากาศยานเบตงได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 ซึ่งมีความพร้อมให้บริการตามมาตรฐาน เริ่มให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์แรก โดยสายการบินนกแอร์ เส้นทางกรุงเทพฯ - เบตง - กรุงเทพฯ ในวันที่ 14 มี.ค. 65 ซึ่งเส้นทางการบินและการขึ้น - ลงของอากาศยานจะอยู่ในน่านฟ้าของประเทศไทยเท่านั้น นอกจากเส้นทางให้บริการภายในประเทศแล้ว ท่าอากาศยานเบตงยังมีความพร้อมที่จะมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค (Regional Hub) เส้นทางระหว่างประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ในอนาคตด้วย