นายนาธัส กฤตวรานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริหารธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารไทยเครดิตมุ่งมั่นในการช่วยเหลือและสนับสนุนกลุ่มธุรกิจ Micro SME ที่ประสบปัญหาทางการเงินให้สามารถข้ามผ่านความยากลำบากจากสถานการณ์โควิด-19 ไปให้ได้ ซึ่งกลุ่มธุรกิจ Micro SME มีสัดส่วนมากกว่า 85% ของธุรกิจทั้งประเทศ นับเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต
โดยธนาคารได้เปิดตัวแคมเปญ Standby เพื่อสื่อถึงการยืนหยัดเคียงข้างลูกค้าในช่วงวิกฤต พร้อมออกสินเชื่อ SME กล้าให้ Standby OD ที่จะช่วยเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ Micro SME มีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น โดยเป็นเงินทุนสำรองให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้หมุนเวียนได้ทันทีเมื่อมีความต้องการ
ภายใต้แคมเปญ Standby ธนาคารไทยเครดิตมีแผนจะสร้างคอมมูนิตี้สำหรับผู้ประกอบการ Micro SME ในรูปแบบเว็บไซต์และเพจเฟซบุ๊ก Thai Credit SME กล้าให้ เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมสาระความรู้และข่าวสาร รวมถึงการจัดอบรมเพิ่มศักยภาพในการทำธุรกิจ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อจุดประกายความคิดในการพัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ รวมทั้งการจัดผู้ช่วยธุรกิจส่วนบุคคล (Standby Assistant) เพื่อให้คำปรึกษาและช่วยเหลือลูกค้า และโปรแกรม Privilege เพื่อมอบสิทธิประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ให้แก่ลูกค้า Micro SME
นายรอย ออกุสตินัส กุนารา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย กล่าวว่า ธนาคารไทยเครดิต ตั้งเป้าสู่การเป็นธนาคารเพื่อรายย่อยที่ดีที่สุดในประเทศ (Best Micro Bank) โดยธนาคารมีจุดมุ่งหมายในการส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า ซึ่งส่งผลให้ธนาคารมีผลประกอบการทางการเงินและการเติบโตที่ดีเยี่ยม แม้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ธนาคารไทยเครดิตพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนภายใต้กลยุทธ์ 3 เสาหลัก คือ
1. มุ่งลูกค้าเป็นศูนย์กลาง พนักงานของธนาคารมีความรู้ความเข้าใจที่หยั่งรากลึกในธุรกิจ พนักงานจะคอยดูแลลูกค้าและเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้ดีที่สุด ขณะที่โมเดลธุรกิจของธนาคารได้รับการออกแบบให้คำนึงถึงลูกค้าเป็นสำคัญ ด้วยรูปแบบที่เข้าถึงง่าย ลดปัญหาของลูกค้า และมอบโอกาสที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า โดยให้ความสำคัญต่อลูกค้าเป็นที่หนึ่ง
2. ประสิทธิภาพการดำเนินงาน ธนาคารไทยเครดิตมีสาขารับเงินฝากเงิน รวม 25 สาขา ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ขณะที่มีสาขาสินเชื่อเพื่อรายย่อยรวม 500 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ นับเป็นโมเดลธุรกิจที่มีต้นทุนในการดำเนินงานต่ำและมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ธนาคารสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ลูกค้าพร้อมส่งมอบผลตอบแทนที่ดีแก่ผู้ถือหุ้น ทำให้ธนาคารมีการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
3. วัฒนธรรมองค์กร พนักงานของธนาคารไทยเครดิตทุกคนจะให้ความสำคัญกับลูกค้าทุกคน ซึ่งไม่ว่าจะมีธุรกิจขนาดเล็กแค่ไหนก็ล้วนมีคุณค่า ภายใต้ปรัชญาแบรนด์ ?Everyone Matters ทุกคนคือคนสำคัญ? ทีมงานของธนาคารจะส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า พร้อมยกระดับความสามารถในการเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพในการดำเนินงานตามโมเดลธุรกิจของธนาคาร ทั้งนี้ ธนาคารไทยเครดิตไม่เพียงมีการเติบโตที่เร็วที่สุดในประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธนาคารยังให้ผลตอบแทนสูงสุดจากผลประกอบการทางการเงินที่โดดเด่นและเหนือกว่ามาตรฐานอุตสาหกรรม ในปี 2564 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 1,935 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 และมียอดสินเชื่อ 9.82 หมื่นล้านบาท เติบโต 43% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 จากการให้สินเชื่อแก่ลูกค้ากว่า 250,000 รายในช่วงสถานการณ์โควิด-19
นอกจากนี้ ธนาคารได้มีการปรับปรุงกระบวนการทำงานที่สำคัญ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานโดยรวมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากร ทั้งการลดต้นทุนและเสริมสร้างการทำงานร่วมกัน (Synergy) ในองค์กรอย่างเหมาะสม ส่งผลให้ธนาคารมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมลดลงจาก 49.9% เป็น 42.3% ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ธนาคารยังเห็นถึงการเติบโตที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่นของธุรกิจขนาดเล็ก ผ่านโครงการความช่วยเหลือด้านสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการของธนาคาร ภายใต้มาตรการสนับสนุนของธนาคารแห่งประเทศไทย ส่งผลให้ธนาคารมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) อยู่ในระดับที่น่าพอใจที่ 2.9% สะท้อนถึงคุณภาพพอร์ตสินเชื่อและการบริหารความเสี่ยงของธนาคาร ทำให้ธนาคารไทยเครดิตขึ้นแท่นธนาคารชั้นนำของอุตสาหกรรม