นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวในรายการทางสถานีวิทยุเช้านี้ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบขนส่งทางรางและระบบขนส่งมวลชนวานนี้(12 มี.ค.) ได้หารือถึงแนวทางการจัดตั้งโรงงานประกอบรถไฟฟ้าขึ้นในประเทศไทย เพื่อรองรับการขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าหลายเส้นทาง ซึ่งจำเป็นต้องใช้ขบวนรถไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก
หากทางการสั่งซื้อรถไฟฟ้าจากต่างประเทศก็จะได้แค่เพียงสินค้า ไม่ได้เรียนรู้ด้านเทคโนโลยี ซึ่งถ้าเกิดปัญหาตัวระบบรถไฟฟ้าขัดข้องก็ต้องส่งไปซ่อมที่ต่างประเทศ หรือจ้างช่างจากต่างประเทศเข้ามาซ่อมแซม ขณะที่การตั้งโรงงานเองจะเป็นการส่งผ่านเทคโนโลยีทำให้เกิดการพัฒนาด้านความรู้ด้วย
นายประภัสร์ ยังกล่าวถึงการที่รัฐมีแนวคิดเข้าซื้อหนี้รถไฟฟ้าบีทีเอสจากเจ้าหนี้ว่า ขณะนี้ทราบว่าทางบีทีเอสได้ยื่นข้อเสนอให้เจ้าหนี้เข้ามาแปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งหากรัฐเข้าไปซื้อหนี้ทั้งหมดแล้วใช้สิทธิดังกล่าวก็จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ไปโดยปริยาย ในขณะที่เจ้าของธุรกิจเดิมก็จะถือหุ้นส่วนน้อยต่อไป
ส่วนสัมปทานรถไฟฟ้าใต้ดินของ รฟม.ที่ปัจจุบัน บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ(BMCL)เป็นผู้บริหารการเดินรถนั้น ทางการไม่มีแนวคิดจะเข้าไปเทคโอเวอร์เหมือนบีทีเอส เนื่องจาก รฟม.เป็นผู้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่เอกชนนำรถเข้ามาดำเนินการเท่านั้น ข้อสัญญาต่าง ๆ ผูกพันให้ขอความเห็นชอบจาก รฟม.ทุกกรณี ดังนั้นการเจรจาเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟฟ้าก็จะทำได้ง่ายกว่าบีทีเอสมาก
--อินโฟเควสท์ โดย ฐานิสร์ ทองนอก/ศศิธร/กษมาพร โทร.0-2253-5050 อีเมล์: kasamarporn@infoquest.co.th--