กกพ.เผยแนวโน้มการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในอนาคตขึ้นอยู่กับต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday March 19, 2022 08:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) กล่าวถึงแนวโน้มการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในอนาคตว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตไฟฟ้าโดยใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติราว 60% และอีก 40% จะเป็นเชื้อเพลิงอื่น หากราคาเชื้อเพลิงก๊าซฯ ยังคงปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางสำนักงาน กกพ.ก็จำเป็นต้องปรับค่าไฟฟ้าตามค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่ต้องจับตาดูสถานการณ์ราคาพลังงานอีกครั้งว่าในอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ซึ่งสำนักงาน กกพ.จะพิจารณาปรับค่าไฟฟ้าตามความเหมาะสม

"ช่วง 1-2 ปีนี้คงต้องดูว่าสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนจะยุติลงได้หรือไม่ ถ้ายุติได้ ถามว่าราคาน้ำมันปรับตัวลงด้วยหรือไม่ หากลงมาราว 70-80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติ (LNG) ยังแพงอยู่ก็จะช่วยได้ระดับหนึ่ง เพราะสามารถปรับมาใช้น้ำมันได้ในราคาที่ต่ำกว่า LNG อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าเราก็คงไม่ได้ในราคาที่ต่ำเหมือนในอดีต แต่จะได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น แต่หากทั้งราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติก็แพง เราก็ต้องเลือกใช้ตัวที่ถูกที่สุด สรุปก็คือขึ้นอยู่กับตลาดโลกและสถานการณ์ฯ จะพัฒนาไปในทางไหน" นายคมกฤช กล่าว

ด้านความคืบหน้าการเปิดเสรีพลังงาน ที่ผ่านมาทางสำนักงาน กกพ.ได้เดินหน้าเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 ไประดับหนึ่งแล้ว และอยู่ระหว่างศึกษาปรับปรุงนโยบายเพื่อไปสู่การเปิดเสรีก๊าซฯ ในระยะที่ 3 หรือไม่ ส่วนไฟฟ้าก็จะเป็นลักษณะเดียวกัน โดยตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน สำนักงาน กกพ.มีหน้าที่วางแนวทางจัดทำหลักเกณฑ์ข้อกำหนดการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access Framework Guideline) เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้รับใบอนุญาตระบบส่งไฟฟ้า หรือผู้รับใบอนุญาตระบบจำหน่ายไฟฟ้าไปดำเนินการจัดทำข้อกำหนดการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (TPA Code) และเปิดให้บริการรับส่งพลังงานไฟฟ้าแก่ผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าที่สนใจ ภายใต้กรอบนโยบาย ซึ่งปัจจุบันก็มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น

ขณะที่ส่วนของราคาภายใต้โครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินงาน เมื่อแล้วเสร็จก็จะนำไปรับฟังความคิดเห็น ซึ่งถ้าดำเนินการแล้วเสร็จก็จะมี TPA framework, TPA Code ฯลฯ หลังจากนั้นจะเป็นหน้าที่ของภาคนโยบาย เช่นเดียวกับก๊าซฯ ว่าจะออกแบบ แบ่งกลุ่มอย่างไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ