เจ้าหน้าที่อาวุโสของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แสดงความคิดเห็นว่า เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลกควรหันมาพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการใช้กองทุนสาธารณะเพื่อรับมือกับความปั่นป่วนในตลาดเงินที่ฉุดรั้งให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยง
สำนักข่าวเกียวโดรายงานโดยอ้างคำกล่าวของนายจอห์น ลิปสกี รองผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟว่า "จนถึงขณะนี้ เรายังคงมองว่าความเสี่ยงที่ทำให้วิกฤติการเงินทวีความรุนแรงนั้นยังเกิดขึ้นเป็นระยะๆ และเราจำเป็นต้องมีนโยบายที่แข็งแกร่งเพื่อรองรับระบบการเงินและพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคงยิ่งขึ้น โดยต้องใช้ตัวเลือกที่มีอยู่ทั้งหมดต่อไป รวมถึงการใช้ประโยชน์จากกองทุนสาธารณะที่มีประสิทธิภาพเพื่อปกป้องระบบการเงิน"
"แม้จะผมไม่สนับสนุนให้ใช้กองทุนของผู้ชำระภาษีของธนาคารรายย่อย แต่ก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องเหมาะสมแล้วที่รัฐบาลต้องยื่นมือเข้าแทรกแซงตลาด หลังจากที่ได้ใช้มาตรการแก้ปัญหามาหมดทุกวิถีทาง"
นอกจากนี้ นายลิปสกียังขานรับมาตรการของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ที่ประกาศร่วมมือกับธนาคารกลางในประเทศอื่นๆ ว่าจะขยายเวลาให้ธนาคารพาณิชย์กู้ตราสารหนี้ แต่กล่าวว่ามาตรการเหล่านี้ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะรับมือกับความเสี่ยงร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม นายลิปสกีกล่าวว่า ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในตลาดเงินอาจฉุดรั้งให้ตลาดสินเชื่อเข้าสู่วัฎจักรขาลง โดยเสริมว่าไอเอ็มเอฟพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือเท่าที่จำเป็น ซึ่งรวมถึงการใช้แหล่งเงินทุนของไอเอ็มเอฟด้วย
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย อรษา สงค์พูล/รัตนา โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--