ศาสตราจารย์ เคนเนธ โรกอฟฟ์ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เตือนว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงรวดเร็วที่สุดในรอบ 20 ปี และอาจจะลดดอกเบี้ยลงอีกในการประชุมวันที่ 18 มี.ค.นั้น เป็นเหมือนดาบ 2 คม เพราะการลดอัตราดอกเบี้ยอาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็เสี่ยงที่จะทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นด้วย
นักลงทุนแห่เข้าซื้อสัญญาทองคำ น้ำมันดิบ ข้าวสาลี และข้าวโพด จนทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่เฟดประกาศลดอัตราดอกเบี้ยรวม 1.25% ในเดือนม.ค. พร้อมกับส่งสัญญาณว่าจะลดดอกเบี้ยลงอีกในการประชุมวันที่ 18 มี.ค.นี้ ทั้งนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยทำให้สกุลเงินดอลลาร์อ่อนตัวลง และสินค้าโภคภัณฑ์ที่ซื้อขายในรูปสกุลเงินดอลลาร์มีราคาถูกลง
เว็บไซท์บลูมเบิร์กรายงานว่า ภาวะตึงตัวในตลาดสินเชื่อทั่วโลกทำให้เบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟดตัดสินใจพักเป้าหมายการรักษาเสถียรภาพด้านราคาไว้ชั่วคราว และลุกขึ้นผ่าทางตันด้วยการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันหลายครั้ง อีกทั้งประกาศอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการธนาคารเพิ่มขึ้นอีก 2 แสนล้านดอลลาร์ในสัปดาห์นี้
"เฟดควรจะดำเนินการโดยคำนึงถึงความเป็นจริงของระบบ แม้มาตรการลดดอกเบี้ยและอัดฉีดสภาพคล่องจะสามารถกอบกู้ความเชื่อมั่นในตลาด แต่ในระยะยาวนั้นจะทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น การบริหารงานของเบอร์นันเก้ค่อนข้างเสี่ยงและแตกต่างจากอลัน กรีนสแปน อดีตประธานเฟดที่มุ่งมั่นสร้างเสถียรภาพด้านราคา" ศาสตราจารย์โรกอฟฟ์กล่าว
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/ปนัยดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 323 อีเมล์: panaiyada@infoquest.co.th--