นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารพาณิชย์ไทย 4 แห่ง และคงความน่าเชื่อถือไว้ 2 แห่ง ด้วยมีมุมมองว่าหนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งกฎเกณฑ์ของทางการ เอื้อให้การช่วยเหลือลูกหนี้ของไทยทำได้มากกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ทำให้มีลูกหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือจำนวนมาก
นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเปราะบาง โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวจากสถานการณ์โควิดที่ยืดเยื้อ และอาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพสินเชื่อในอนาคต อย่างไรก็ดี S&P จัดให้ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 4 แห่ง มีแนวโน้มของอันดับความน่าเชื่อถือคงที่ (stable outlook) เนื่องจากยังมีความแข็งแกร่งด้านเงินกองทุน และมีเงินสำรองในระดับสูง
นายรณดล ชี้แจงว่า ในการแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์ที่รุนแรงและยืดเยื้อ รวมทั้งการฟื้นตัวที่ยังไม่เท่าเทียม ธปท. มีมาตรการสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุด และเหมาะสมกับสถานการณ์มาต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นการดำเนินนโยบายเชิงผ่อนคลาย (countercyclical) ที่เหมาะกับบริบทของไทย และไม่ต่างไปจากแนวทางประเทศต่าง ๆ โดยจะเห็นได้ว่า ลูกหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือปรับลดลงจากที่เคยสูงสุดที่ 30% ของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ (ไม่รวม interbank) ในเดือนกรกฎาคม 2563 มาอยู่ที่ 14% ณ สิ้นปี 2564 และส่วนใหญ่ของลูกหนี้ที่ออกจากมาตรการไปแล้ว สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ
ในขณะเดียวกัน เพื่อรักษาสมดุลให้การช่วยเหลือลูกหนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของธนาคารพาณิชย์ และเสถียรภาพการเงิน ธปท. ได้ติดตามความเสี่ยง คุณภาพสินเชื่อ และฐานะของธนาคารพาณิชย์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ระบบธนาคารพาณิชย์ยังทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
โดยล่าสุด ฐานะการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังแข็งแกร่ง อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) อยู่ที่ 20% โดยระหว่างปี 2563-2564 ธนาคารพาณิชย์ได้กันสำรองเพิ่มเติม 4.3 แสนล้านบาท สะท้อนความระมัดระวังของธนาคารพาณิชย์ ภายใต้สถานการณ์ความเสี่ยงสูงข้างต้น ซึ่งปัจจุบัน เงินสำรองของระบบธนาคารพาณิชย์ อยู่ที่ 8.9 แสนล้านบาท คิดเป็นกว่า 1.6 เท่าของสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio)
นอกจากนี้ ธปท. ได้ทดสอบระดับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ (ระหว่างปี 2564-2566) ภายใต้ภาวะวิกฤต (stress test) มาอย่างต่อเนื่อง พบว่าระบบธนาคารพาณิชย์ยังแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนสูงในอนาคต
"ในระยะต่อไป คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้รายได้ และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ รวมถึงคุณภาพสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ปรับดีขึ้นเป็นลำดับ" นายรณดล กล่าว