สศก.เผย GDP เกษตร Q1/65 โต 4.4% ทั้งปีคาดโต 2-3% จับตาราคาน้ำมัน-บาทแข็งกระทบต้นทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 24, 2022 13:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สศก.เผย GDP เกษตร Q1/65 โต 4.4% ทั้งปีคาดโต 2-3% จับตาราคาน้ำมัน-บาทแข็งกระทบต้นทุน

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภาวะ เศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1/65 (ม.ค.-มี.ค. 65) พบว่า ขยายตัว 4.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 64 ซึ่งมีทิศทางเป็นบวก ต่อเนื่องจากไตรมาส 4/64 (ต.ค.-ธ.ค. 64) ที่ขยายตัว 0.7%

สำหรับการเติบโตได้ดีในไตรมาสนี้ เป็นผลจากสาขาพืชซึ่งเป็นสาขาการผลิตหลักขยายตัว เนื่องจากฝนที่ตกต่อเนื่องตั้งแต่ช่วง กลางปี 64 ถึงต้นปี 65 และสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ทำให้การผลิตพืชสำคัญเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สาขาบริการทางการเกษตรขยายตัวได้ตาม พื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่เก็บเกี่ยวพืชที่เพิ่มขึ้น ขณะที่สาขาประมงและสาขาป่าไม้ ขยายตัวได้จากการผลิตที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาด ที่มีอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สาขาปศุสัตว์หดตัวลงจากสถานการณ์โรคระบาดในสัตว์ที่ส่งผลให้เกษตรกรปรับลดปริมาณการเลี้ยง

สศก.เผย GDP เกษตร Q1/65 โต 4.4% ทั้งปีคาดโต 2-3% จับตาราคาน้ำมัน-บาทแข็งกระทบต้นทุน

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเป็นรายสาขา พบว่า สาขาพืช ขยายตัว 6.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 64 โดยสินค้าพืชที่มีผลผลิต เพิ่มขึ้น ได้แก่

-ข้าวนาปี ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากฝนที่ตกต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 64 ทำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอในช่วงฤดูเพาะปลูก เกษตรกรจึงขยายการเพาะปลูกในพื้นที่ว่าง ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอย่างต่อเนื่อง

-ข้าวนาปรัง ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่สำคัญและแหล่งน้ำตามธรรมชาติมีมากขึ้น เกษตรกรจึงขยาย การเพาะปลูกในพื้นที่นาปรังเดิมที่เคยปล่อยว่าง และเกษตรกรในภาคกลางบางรายทำการเพาะปลูกชดเชยในพื้นที่ที่เสียหายจากสถานการณ์ น้ำท่วมในช่วงปลายเดือนก.ย. 64

-อ้อยโรงงาน ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำและสภาพอากาศเอื้ออำนวย ส่งผลให้ต้นอ้อยเจริญเติบโตได้ดีขึ้น ประกอบ กับโรงงานน้ำตาลมีระบบประกันราคารับซื้อผลผลิตอ้อยสดคุณภาพดี จูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกอ้อยและเอาใจใส่ดูแลผลผลิต

-สับปะรดโรงงาน ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากสับปะรดที่ปลูกในช่วงปลายปี 63 ถึงต้นปี 64 เริ่มให้ผลผลิต ซึ่งเป็นผลจากราคา สับปะรดโรงงานในช่วงดังกล่าวอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกสับปะรดในพื้นที่ปล่อยว่าง และปลูกแซมในสวนยางพาราและ สวนมะพร้าวที่ปลูกใหม่

-ยางพารา ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำฝนมีเพียงพอ ทำให้ต้นยางสมบูรณ์ดี และการระบาดของโรคใบร่วงยางพารา ในภาคใต้ซึ่งเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญลดลง ประกอบกับความต้องการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศจากอุตสาหกรรมยาน ยนต์ และการผลิตถุงมือยาง ทำให้เกษตรกรเพิ่มจำนวนวันกรีดยาง

-ปาล์มน้ำมัน ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในปี 62 เพื่อทดแทนพืชชนิดอื่น ได้แก่ เงาะ ลองกอง กาแฟ และยางพารา เริ่มให้ผลผลิตในช่วงปี 65 และในแหล่งผลิตสำคัญมีสภาพอากาศเอื้ออำนวย รวมถึงราคาปาล์มน้ำมันมีการปรับตัวเพิ่ม ขึ้นตามราคาตลาดโลก เกษตรกรมีการบำรุงดูแลมากขึ้น ส่งผลให้ทะลายปาล์มมีความสมบูรณ์

-ลำไย ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้นจากต้นลำไยที่เกษตรกรปลูกแทนพืชอื่นในปี 62 เช่น ลิ้นจี่ และไม้ผลอื่น ซึ่งเริ่มให้ผลผลิตในช่วงปี 65 ประกอบกับสภาพอากาศเอื้ออำนวย ทำให้ลำไยติดผลดีและมีจำนวนผลต่อช่อเพิ่มขึ้น โดยเป็นผลผลิตนอกฤดูผล ผลิตซึ่งส่วนใหญ่มาจากจังหวัดจันทบุรี

-ทุเรียน ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง จูงใจให้เกษตรกรมีการบำรุงดูแลรักษา และมีการทำทุเรียน นอกฤดูมากขึ้น ประกอบกับการขยายพื้นที่ปลูกใหม่ในปี 60 เริ่มให้ผลผลิตในปี 65 เป็นปีแรก

-มังคุด ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงเดือนธ.ค. 64-ม.ค. 65 ตอนกลางของประเทศมีอากาศหนาวเย็นที่เอื้ออำนวยต่อ การออกดอกและติดผล และในปีที่ผ่านมามังคุดมีการออกดอกและติดผลน้อย ทำให้มีเวลาพักสะสมอาหาร ส่งผลให้มีการออกดอกติดผลมาก ขึ้น

ส่วนสินค้าพืช ที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่

-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตลดลง เนื่องจากปัญหาด้านสภาพอากาศและการเกิดอุทกภัยในแหล่งผลิตสำคัญในช่วงเดือนก.ย.- พ.ย. 64 ส่งผลให้พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงไตรมาสนี้บางส่วนได้รับความเสียหาย

-มันสำปะหลัง ผลผลิตลดลง เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกสำคัญหลายจังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ ลพบุรี นครสรรค์ และ อุทัยธานี ประสบปัญหาอุทกภัยและน้ำท่วมขังในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค. 64 ส่งผลให้หัวมันเน่าเสียหาย และไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

-เงาะ ผลผลิตลดลง เนื่องจากเกษตรกรมีการบำรุงดูแลรักษาน้อยกว่าไม้ผลอื่นที่มีราคาสูง ประกอบกับมีการปรับเปลี่ยนไป ปลูกไม้ผลอื่นที่มีราคาดีกว่า และมีการตัดโค่นต้นที่ปลูกแซมในสวนทุเรียน มังคุด และปาล์มน้ำมันที่เติบโตขึ้น ทำให้ปริมาณผลผลิตลดลง

สำหรับสาขาปศุสัตว์ หดตัว 2.0% เนื่องจากการผลิตสุกรได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ทำให้ เกษตรกรต้องลดปริมาณการเลี้ยง ประกอบกับต้นทุนค่าอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ความต้องการสินค้าปศุสัตว์ที่ยังมีต่อเนื่อง การ จัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐานและการเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มงวด ทำให้ผลผลิตปศุสัตว์หลายชนิดเพิ่มขึ้นได้

ในส่วนของสินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตลดลง คือ สุกร เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรมีความกังวลกับสถานการณ์โรคระบาดในสุกร ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (African Swine Fever: ASF) ประกอบกับต้นทุนการเลี้ยงที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่ง ผลให้เกษตรกรมีการปรับลดปริมาณการเลี้ยงสุกร

ส่วนสินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่เนื้อ เนื่องจากมีการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งในและ ต่างประเทศ ด้านไข่ไก่ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการจัดการฟาร์มที่มีประสิทธิภาพ และสภาพอากาศเอื้ออำนวย ส่งผลให้ไข่ไก่ ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ส่วนน้ำนมดิบ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี ดูแลเอาใจใส่สุขภาพของแม่โคและมีการ ปรับปรุงพันธุ์แม่โคให้มีอัตราการให้น้ำนมเพิ่มขึ้น

สำหรับสาขาประมง ขยายตัว 2.5% เป็นผลมาจากผลผลิตประมงทะเลในส่วนของสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้มี ปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากมรสุมเริ่มลดลง ชาวประมงสามารถนำเรือออกไปจับสัตว์น้ำได้เพิ่มขึ้น ส่วนปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาค ประมงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีทิศทางดีขึ้น โดยแรงงานได้รับวัคซีนตามที่กำหนดและสามารถกลับเข้าทำงานได้

ในส่วนของกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากระดับราคาที่จูงใจ ทำให้เกษตรกรปรับเพิ่มจำนวนลูกพันธุ์และ ลงลูกกุ้งมากกว่าช่วงที่ผ่านมา แม้จะยังพบการระบาดของโรคขี้ขาว ไวรัสตัวแดงดวงขาว หัวเหลือง ในบางพื้นที่ แต่เกษตรกรมีการดูแล เอาใจใส่เป็นอย่างดี ทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น

ด้านผลผลิตประมงน้ำจืด ปลานิล และปลาดุก มีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากน้ำในแม่น้ำลำคลองมีเพียงพอสำหรับการเลี้ยงและเกษตรกร มีการอนุบาลลูกปลาให้ได้ขนาดและแข็งแรงก่อนปล่อยลงบ่อเลี้ยง ทำให้อัตราการรอดสูงขึ้น

สำหรับสาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัว 2.4% โดยกิจกรรมการเตรียมดินเพิ่มขึ้นตามพื้นที่เพาะปลูกพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง และมันสำปะหลัง เนื่องจากปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืช และราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ใน เกณฑ์ดี และกิจกรรมการเก็บเกี่ยวผลผลิตเพิ่มขึ้นตามพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง และสับปะรดโรงงาน

สำหรับสาขาป่าไม้ ขยายตัว 2.2% เนื่องจากผลผลิตไม้ยางพารา ถ่านไม้ และครั่ง เพิ่มขึ้นเป็นหลัก โดยผลผลิตไม้ ยางพารา เพิ่มขึ้นตามพื้นที่การตัดโค่น สวนยางพาราเก่า เพื่อปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีและพืชอื่น และความต้องการของตลาดจีนที่มี มากขึ้น ด้านผลผลิตถ่านไม้ เพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ภายในประเทศทั้งโรงแรมและร้านอาหาร รวมถึงการส่งออกไปยังจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้านผลผลิตครั่ง เพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต และยังเป็นที่ต้องการของตลาดอินเดีย ส่วนรังนกยัง มีความต้องการจากประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความต้องการไม้ยูคาลิปตัส เพื่อเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษลดลง เมื่อ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 65 ยังคงคาดการณ์ว่า จะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.0-3.0% เมื่อเทียบกับปี 64 โดย ทุกสาขาการผลิต มีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นจากอิทธิพลของลานีญา ประกอบกับภาครัฐมีความร่วมมือกับภาคส่วน ต่างๆ ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการบริหารจัดการด้านการผลิตและการตลาดที่ดี มีการใช้เทคโนโลยีในการผลิตและยกระดับคุณภาพสินค้า ให้ ได้มาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของตลาด นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น ทำให้มี ความต้องการสินค้าเกษตรทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะฝนทิ้งช่วงและความแปรปรวนของสภาพอากาศในบางพื้นที่ แนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับ ตัวสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตทั้งในด้านราคาปุ๋ย สารกำจัดศัตรูพืช และอาหารสัตว์ รวมถึงค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า อาจ ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ ตลอดจนสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัว ของเศรษฐกิจโลกในภาพรวม

"สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน แทบไม่มีผลกระทบต่อ GDP เกษตร เพราะทั้งสองประเทศไม่ใช่ประเทศคู่ค้าหลัก โดยจะกระทบ เศรษฐกิจในภาพรวมเท่านั้น และถึงแม้จะมีสงคราม แต่ก็ยังต้องมีการส่งออกสินค้าเกษตรเพื่อการบริโภค ด้านโลจิสติกส์ทั่วโลกได้รับผล กระทบจากค่าระวางเรือที่สูงขึ้น แต่ค่าระวางเรือนั้นเป็นเรื่องของประเทศปลายทางที่ส่งออก" นายฉันทานนท์ กล่าว

                            อัตราการเติบโตของภาคเกษตร
                                                                       หน่วย: ร้อยละ
              สาขา                        ไตรมาส 1/65 (ม.ค.-มี.ค.)
           ภาคเกษตร                                   4.4
           - พืช                                       6.3
           - ปศุสัตว์                                   -2.0
           - ประมง                                    2.5
           - บริการทางการเกษตร                         2.4
           - ป่าไม้                                     2.2
ที่มา: กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ