รถร่วม ขสมก.สุดอั้นยื่นหนังสือถึงรมว.คมนาคมขอปรับขึ้นค่าโดยสารรถธรรมดาพรวดเดียวมากกว่า 1.50 บาท รถปรับอากาศระยะละ 2 บาท พร้อมทั้งของดค่าตอบแทนส่วนแบ่งรายได้ และขอรับค่าชดเชยราคาน้ำมัน หลังจากราคาน้ำมันดีเซลพุ่งไม่หยุด มินิบัสต่อคิวขอปรับเพิ่มด้วย 1 บาท
นายฉัตรชัย ชัยวิเศษ นายกสมาคมพัฒนารถร่วมเอกชน เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคมว่า สมาคมฯ เสนอขอปรับค่าโดยสารสำหรับรถโดยสารธรรมดาไม่ต่ำกว่า 10 บาท จากปัจจุบันที่ 8.50 บาท ส่วนค่าโดยสารรถปรับอากาศนั้น เสนอให้ปรับราคาอีกระยะละ 2 บาท จากเดิมเริ่มต้นที่ 12 บาท
ขณะนี้ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวขึ้นไปสูงถึงลิตรละ 30.94 บาท ซึ่งแม้ว่าบมจ.ปตท.(PTT)จะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ลิตรละ 29.94 บาท แต่ก็ไม่มีน้ำมันขายให้กับผู้ประกอบการทั้งหมด ทำให้ผู้ประกอบการต้องไปซื้อจากแหล่งอื่นอยู่ดี
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ภาครัฐจะอนุญาตให้จัดเก็บค่าโดยสารในอัตรา 10 บาท แต่ก็ต้องมีเงื่อนไขยกเว้นการจัดเก็บค่าตอบแทนส่วนแบ่งรายได้ที่ ขสมก.จัดเก็บในอัตรารถโดยสารธรรมดา 35 บาท/วัน/คัน รถโดยสารปรับอากาศ 60 บาท/วัน/คัน รวมทั้งขอรับการช่วยเหลือชดเชยค่าน้ำมันในอัตรา 320 บาท/วัน/คัน เพราะถือว่าต้นทุนการเดินรถอยู่ที่ 12 บาท
นายฉัตรชัย กล่าวว่า อัตราค่าโดยสารที่จัดเก็บอยู่ปัจจุบันบนพื้นฐานราคาน้ำมันที่ 27.34 บาท/ลิตร แต่เมื่อปัจจุบันราคาน้ำมันปรับเพิ่มถึงลิตรละ 3 บาท ภาครัฐก็ควรพิจารณาปรับค่าโดยสารเพิ่ม เพราะผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อนจากต้นทุนเดินรถที่เพิ่มขึ้นทั้งจากราคาน้ำมัน ค่าอะไหล่ รวมทั้งค่าใช้จ่ายจากการที่ ขสมก. ปรับระบบบริหารจัดการที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการเข้าร่วมเดินรถใหม่ ในอัตรารถโดยสารธรรมดา คันละ 40,000 บาท รถโดยสารปรับอากาศคันละ 60,000 บาท
"หากภาครัฐต้องการตรึงค่าโดยสาร สมาคมฯ ก็มีทางเลือกอื่นเสนอ เช่น ให้ภาครัฐจัดหารถโดยสารใช้เอ็นจีวีมาให้ผู้ประกอบการเช่าซื้อ ลักษณะเหมือนการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ จำนวนประมาณ 3,500 คัน คิดเป็นเงินประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท โดยผู้ประกอบการจะใช้เวลาผ่อนชำระประมาณ 5 ปี และหลังจากผ่อนชำระครบกำหนดภาครัฐจะกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ 10 บาทตลอดสายสำหรับรถโดยสารทุกประเภท ผู้ประกอบการก็ยินดี" นายฉัตรชัย กล่าว
ด้านนายบรรยงค์ อัมพรตระกูล ประธานชมรมรถร่วมบริการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า ได้ยื่นหนังสือต่อนายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.คมนาคม เพื่อขอปรับเพิ่มค่าโดยสาร เนื่องจากปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 30.94 บาท ส่งผลให้ต้นทุนของผู้ประกอบการรถโดยสารเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันต้นทุนอื่นๆ เช่น ค่าอะไหล่ ยางรถยนต์ ต่างก็ปรับราคาเพิ่มขึ้น
ดังนั้น จึงต้องขอให้กระทรวงคมนาคมปรับราคาค่าโดยสารให้สอดคล้องกับต้นทุนเดินรถที่เพิ่มขึ้น ตามรายละเอียดดังนี้ รถโดยสารขนาดเล็ก หรือรถมินิบัส ขอขึ้น 1 บาท เป็น 8 บาท จากเดิม 7 บาท รถโดยสารขาว-น้ำเงิน ขอขึ้น 1.50 บาท เป็น 10 บาท จากเดิม 8.50 บาท รถโดยสารปรับอากาศขอขึ้นระยะละ 1 บาท เป็นราคาเริ่มต้นที่ 13 บาท จากเดิม 12 บาท
ต้นทุนน้ำมันรถโดยสารธรรมดาใช้น้ำมันเฉลี่ยวันละ 100 ลิตร คิดเป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 3,090 บาท รถปรับอากาศใช้น้ำมันเฉลี่ยวันละ 130-150 ลิตร คิดเป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 4,017-4,635 บาท
--อินโฟเควสท์ โดย คคฦ/เสาวลักษณ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--