TTB ห่วงต้นทุนปุ๋ยเคมี-น้ำมันฉุดรายได้เกษตรกร จากคาดปีนี้โตสูงสุดรอบ 5 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 24, 2022 17:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

TTB ห่วงต้นทุนปุ๋ยเคมี-น้ำมันฉุดรายได้เกษตรกร จากคาดปีนี้โตสูงสุดรอบ 5 ปี

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) คาดว่า ในปี 65 รายได้เกษตรกรจาก 5 พืชเศรษฐกิจ (ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน) จะเพิ่มขึ้นเป็น 8.86 แสนล้านบาท ซึ่งเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อนถึง 16.1% และสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ได้แก่

1. ข้าวเปลือก คาดว่ารายได้เกษตรกรจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.93 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 12.6% โดยปริมาณผลผลิตข้าวจะเพิ่มขึ้น 4.1% และราคาข้าวเปลือก (ความชื้น 15%) จะเพิ่มขึ้น 8.2% (ปี 64 ราคาข้าวเปลือกปรับตัวลดลง 5.2% จากอุปทานเพิ่มขึ้น) โดยรายได้เกษตรกรชาวนาจะได้รับผลดีจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง และปริมาณน้ำจะเพียงพอทั้งในอ่างเก็บกักน้ำและน้ำฝนตามธรรมชาติ ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ส่วนราคาข้าวเปลือกคาดว่าจะดีขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก ทำให้การค้ากลับมาเป็นปกติ โดยข้าวไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

2. ยางพารา คาดว่ารายได้เกษตรกรจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.89 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 12.3% โดยปริมาณผลผลิตคาดว่าจะทรงตัวจากปีก่อน สำหรับราคายางพาราคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 12.0% ซึ่งได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตยางรถยนต์ปรับสัดส่วนการใช้ยางสังเคราะห์มาเป็นยางธรรมชาติมากขึ้น รวมถึงความต้องการยางพาราที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากตลาดในประเทศและตลาดส่งออกหลัก (จีนและมาเลเซีย) ที่ต้องการนำไปผลิตเป็นสินค้าขั้นปลาย ได้แก่ ยางรถยนต์ และถุงมือยางทางการแพทย์ มากขึ้น

3. ปาล์มน้ำมัน คาดว่ารายได้เกษตรกรจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.28 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 13.6% โดยปริมาณผลผลิตและราคาคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.6% และ 9.7% ตามลำดับ ปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมาจากราคาปาล์มน้ำมันปรับสูงขึ้นจูงใจให้เกษตรกรหันมาเพาะปลูกมากขึ้น ด้านราคาที่ปรับเพิ่มนั้นสาเหตุมาจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น และอินโดนีเซียผู้ผลิตปาล์มรายใหญ่ของโลกจำกัดการส่งออกน้ำมันปาล์ม เพื่อคุมราคาน้ำมันปาล์มที่ใช้ประกอบอาหารในประเทศไม่ให้สูงเกินไป

4. อ้อย คาดว่ารายได้เกษตรกรจะเพิ่มขึ้นเป็น 0.97 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 47.9% โดยปริมาณผลผลิตและราคาคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 28.1% และ 15.5% ตามลำดับ ปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมาสภาวะอากาศที่กลับสู่ปกติรวมถึงราคาอ้อยที่ปรับสูงขึ้น เนื่องจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ได้แก่ สมาคมโรงงานน้ำตาลไทย สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย และสมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล ร่วมกันประกันราคาอ้อยฤดูกาลผลิตปี 2565/66 ขั้นต่ำไว้ที่ 1,000 บาทต่อตัน จูงใจให้เกษตรกรเพาะปลูกมากขึ้น

5. มันสำปะหลัง คาดว่ารายได้เกษตรกรจะเพิ่มขึ้นเป็น 0.79 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 17.1% โดยปริมาณผลผลิตและราคาคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.6% และ 16.4% ตามลำดับ แม้ว่าเนื้อที่เก็บเกี่ยวจะลดลงจากอุทกภัยในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค. 64 ที่ผ่านมา ทำให้มันสำปะหลังเสียหาย ไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ อย่างไรก็ดี คาดว่าผลผลิตมันสำปะหลังต่อไร่ในปี 65 จะดีขึ้นจากปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอช่วยชดเชย ทำให้ผลผลิตใกล้เคียงกับปี 64 ด้านราคามันสำปะหลังจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากความต้องการที่จะนำไปแปรรูปเป็นมันเส้น มันอัดเม็ด แป้งมันสำปะหลัง และเอทานอลเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นทำให้ราคามันสำปะหลังปรับตัวสูงขึ้น

มูลค่ารายได้เกษตรกรจาก 5 พืชเศรษฐกิจหลักของไทยปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับอานิสงส์จาก 1. ปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นสาเหตุจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร 2. ปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกพืช 3. แนวโน้มราคาอาหารเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวภายหลังจากการระบาดของโรคโควิด-19 และ 4. ความตึงเครียดของสงครามรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาพืชอาหารและพืชที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ttb analytics ห่วงว่า ต้นทุนปุ๋ยเคมีและต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่พุ่งกว่าเท่าตัว ฉุดรายได้สุทธิเกษตรกรให้ลดลง เนื่องจากปุ๋ยเคมีถือเป็นต้นทุนสำคัญในการเพาะปลูกพืช โดยจากข้อมูลปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกรจาก 5 พืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า พืชที่ใช้ปุ๋ยเคมีมากคือ ปาล์มน้ำมันใช้ปุ๋ยเคมี 120 กิโลกรัมต่อไร่ รองลงมาเป็น ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวเปลือก ใช้ปุ๋ยเคมี 76 63 41 และ 30-49 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ

ttb analytics คาดว่าในปี 65 ราคาปุ๋ยเคมีขายปลีกท้องถิ่น (สูตร 46-0-0) จะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 26,000 บาทต่อตันจากปี 64 ที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 13,541 บาทต่อตัน สาเหตุเนื่องจาก 1. ความต้องการปุ๋ยเคมีโลกที่เพิ่มขึ้นจากการที่ประเทศต่างๆ มุ่งเน้นด้านความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งการสนับสนุนจากรัฐบาลต่อภาคการเกษตร 2. อุปทานการผลิตปุ๋ยเคมีหยุดชะงักจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน 3. ราคาวัตถุดิบแม่ปุ๋ยปรับเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานที่สูงขึ้น 4. จีนและรัสเซียผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ของโลก ลดปริมาณการส่งออกปุ๋ยเคมี

สำหรับราคาปุ๋ยเคมีที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลทำให้ต้นทุนปุ๋ยเคมีของเกษตรกรในปี 65 ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 92% จากปี 64 และหากคิดเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจะพบว่า พืชที่ต้นทุนปุ๋ยเคมีเพิ่มมากที่สุด คือ ปาล์มน้ำมัน คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1,495 บาทต่อไร่ (จาก 1,625 บาทต่อไร่ในปี 64 เป็น 3,120 บาทต่อไร่ในปี 65) รองลงมา ได้แก่ ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวเปลือก โดยต้นทุนปุ๋ยเคมีในปี 65 จะเพิ่มขึ้นจากปี 64 เท่ากับ 947 785 511 และ 492 บาทต่อไร่ ตามลำดับ นอกจากนี้ ต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ทางการเกษตร อาทิ การขนส่งสินค้าเกษตร การสูบน้ำ ฯลฯ นับเป็นอีกต้นทุนหนึ่งที่จะส่งผลกระทบต่อรายได้สุทธิของเกษตรกรให้ลดลงได้

อย่างไรก็ดี แม้รายได้เกษตรกรจาก 5 พืชเศรษฐกิจของไทย ในปี 65 จะดีขึ้นจากทิศทางราคาและปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ต้นทุนการผลิต อาทิ ปุ๋ยเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง และค่าแรง ฯลฯ มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งต้นทุนที่ปรับเพิ่มย่อมส่งผลทำให้รายได้สุทธิของเกษตรกรลดลง จึงเสนอแนะแนวทางการลดต้นทุน ดังนี้

1. แนวทางการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ได้แก่ ปรับสัดส่วนเปลี่ยนจากปุ๋ยเคมีมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการเพาะปลูกมากขึ้น และจัดทำบัญชีรายการต้นทุนการเพาะปลูกโดยละเอียด อาทิ ค่าปุ๋ยเคมี ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าแรงงาน ค่าสูบน้ำ ค่าหว่าน ค่าไถพรวนดิน ฯลฯ เพื่อให้ทราบต้นทุนการเพาะปลูกทั้งหมดและนำไปประกอบการพิจารณาลดต้นทุนการเพาะปลูกแยกตามลำดับความสำคัญ ตามความสามารถที่เกษตรกรจะสามารถปรับลดเองได้

2. แนวทางการช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิตของภาครัฐ ได้แก่ ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยสั่งตัด ซึ่งเป็นการผสมแม่ปุ๋ยให้ตรงกับสภาพดินและความต้องการของพืช ช่วยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีได้, ส่งเสริมและให้ความรู้เกษตรกรเกี่ยวกับวิธีการใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์แบบผสมผสาน ซึ่งจะช่วยลดค่าปุ๋ยเคมีลงได้ และในกรณีที่ต้นทุนปัจจัยการผลิตเพิ่มสูงขึ้นมากเกินไป ภาครัฐควรพิจารณาใช้งบประมาณช่วยเหลือปัจจัยการผลิตตามความเหมาะสม ฯลฯ

ทั้งนี้ การลดต้นทุนของเกษตรกรด้วยตัวเองและได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะสนับสนุนให้ภาคเกษตรไทย มีศักยภาพในการสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะสามารถรับมือกับความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรได้ นับเป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือเศรษฐกิจฐานรากเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ