ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เป็นประธาน มีมติปรับลดเงินอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลลงเหลือ 9.77 บาท/ลิตร จากเดิมชดเชยอยู่ 10.16 บาท/ลิตร ทั้งนี้เนื่องจากราคาน้ำมันโลกปรับลดลงเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันโลกยังคงทรงตัวระดับสูง เกิน 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล โดย ณ วันที่ 28 มี.ค. 2565 เวลาประมาณ 14.00 น. ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ระดับ 111.82 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง0.77 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 109.11 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 4.81 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 116.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลง 4.49 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
และเมื่อพิจารณาค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมัน จากข้อมูลสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้อ้างอิงค่าการตลาดดีเซล ณ วันที่ 28 มี.ค. 2565 ไว้ที่ 1.61 บาท/ลิตร แต่ค่าการตลาดจริงที่ผู้ค้าดีเซลได้รับอยู่ที่ 1.79 บาท/ลิตร ซึ่งปรับสูงขึ้นจากวันที่ 25 มี.ค. 2565 ที่อยู่ระดับต่ำเพียง 0.33 บาท/ลิตร (จากค่าการตลาดที่ควรได้ 1.5-2 บาท/ลิตร)
ดังนั้นหากราคาน้ำมันโลกปรับลดลงดังกล่าว ประกอบกับค่าการตลาดอยู่ในระดับปกติแล้ว คาดว่าเร็วๆนี้ อาจมีการปรับลดราคาน้ำมันลงได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกเป็นหลัก เพราะยังผันผวนและทรงตัวระดับสูงเกิน 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลต่อเนื่องอยู่
สำหรับในส่วนของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 20 มี.ค. 65 กองทุนฯ ยังคงประสบปัญหาเงินไหลออกต่อเนื่อง โดยติดลบรวม 32,831 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบ 4,028 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 28,803 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม กบน. เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 65 ได้ขยายกรอบวงเงินที่จะใช้ชดเชยราคา LPG รวมไว้ที่ 33,000 ล้านบาท จากเดิมกำหนดไว้ 29,000 ล้านบาท เนื่องจากแม้ราคา LPG จะปรับขึ้น 1 บาทต่อกิโลกรัม หรือจากราคา 318 บาท เพิ่มเป็น 333 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2565 นี้ แต่ราคา LPG โลกยังทรงตัวสูงระดับ 800 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน หรือราคา LPG ที่แท้จริงอยู่ที่กว่า 600 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ดังนั้นกองทุนฯ ยังต้องพยุงส่วนต่างราคาดังกล่าวต่อไปจนถึงเดือน มิ.ย. 65 จากนั้นต้องรอนโยบายภาครัฐว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป