นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ดำเนินการตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศของไทย สร้างจุดแข็งให้กับสินค้าและบริการไทย เพื่อตอบสนองความต้องการ Megatrends และความต้องการของผู้ประกอบการในยุค Next Normal
ทั้งนี้ เน้นส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ให้มีศักยภาพสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของตนเองได้ มีความพร้อมด้านการค้าและเศรษฐกิจยุคใหม่ เพื่อสร้างผู้ส่งออกรายใหม่ (New Faces) และยกระดับผู้ประกอบการท้องถิ่นในทุกภูมิภาคของไทยสู่ตลาดโลก หรือ Local To Global จึงเกิดเป็นกิจกรรมบ่มเพาะแบรนด์ไทย หรือ IDEA LAB ขึ้นมา
กรมฯ ได้ผลักดันให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ทางการค้าที่ดี เป็นที่เชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลก โดยยกโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เป็นแนวทางที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพ SMEs ไทยในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมให้ใช้ประโยชน์จากการค้าออนไลน์ระหว่างประเทศ ช่วยขยายตลาดสินค้ากลุ่ม BCG ในยุค Next Normal ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
"คาดหวังให้กิจกรรมบ่มเพาะแบรนด์ไทยนี้ ช่วยสร้างผู้ประกอบการที่มีมูลค่าเพิ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น สร้างแบรนด์ภูมิภาคให้เป็นแบรนด์ต้นแบบประจำท้องถิ่น ได้นำความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม การออกแบบ และการสร้างแบรนด์ มาส่งเสริมเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ ให้แบรนด์ไทยเป็นที่ยอมรับในเวทีการค้าโลก มุ่งยกระดับสู่การเป็นแบรนด์ BCG Heroes" นายภูสิต ระบุ
ขณะเดียวกัน จากการดำเนินงานโครงการ 4 รุ่นที่ผ่านมา ได้สร้างผู้ประกอบการจำนวน 65 ราย และทำให้ผู้ประกอบการได้รับการพัฒนาศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในด้านการสร้างแบรนด์อย่างเป็นรูปธรรม โดยแต่ละรายได้แนวทางกลยุทธ์แบรนด์ของตนเอง ค้นพบอัตลักษณ์ จุดแข็ง และความท้าทายของตนเอง สามารถเพิ่มศักยภาพของธุรกิจในเวทีสากล
สำหรับกิจกรรมบ่มเพาะแบรนด์ไทย รุ่นที่ 5 หรือ IDEA LAB 5 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "Local Brand Building for Global Market" เน้นส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในทุกภูมิภาค ในด้านการสร้างคุณค่าของแบรนด์สินค้าให้เป็นที่ยอมรับ และให้สามารถขยายมูลค่าการค้าระหว่างประเทศได้อย่างยั่งยืน โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัด กรมทรัพย์สินทางปัญญา กองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
นายภูสิต กล่าวว่า ในปีนี้มีผู้ประกอบการสมัครเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 293 แบรนด์ โดยการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เน้น 3 กลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพในทางการตลาด ได้แก่ กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร กลุ่มสินค้าสุขภาพและความงาม และกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์และหัตถกรรม ซึ่งมีกิจกรรมใน 2 รูปแบบ ได้แก่
ช่วงที่ 1 การสัมมนาด้านการสร้างแบรนด์ เพื่อสร้างการรับรู้ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางด้านการสร้างแบรนด์ ได้รับเกียรติจากผู้บริหารองค์กรธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์ชั้นนำ ระดับแนวหน้าของประเทศ ที่จะมาให้ความรู้ด้านการสร้างแบรนด์แบบรอบด้าน
หลังจากนั้น ผู้ที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 2 ช่วง จะถูกคัดเลือกเหลือ 30 แบรนด์ เพื่อเข้าสู่กิจกรรมในช่วงที่ 2 การอบรมเชิงลึก และคัดเลือกเหลือ 15 แบรนด์สุดท้าย ซึ่งจะรับการพัฒนากลยุทธ์การสร้างแบรนด์เฉพาะราย โดยให้ผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญร่วมกันค้นหาจุดแข็ง และการสร้างความแตกต่าง รวมไปถึงแนวทางการสื่อสารแบรนด์เพื่อนำไปสู่การสร้างคู่มือแบรนด์ (Brand Bible) ต่อไป