นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบรายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปีงบประมาณ 2564 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรา 78 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้ภายในเดือนมีนาคมของทุกปีให้กระทรวงการคลังจัดทำรายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปี และเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
ทั้งนี้ รายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปีงบประมาณ 2564 ได้มีการวิเคราะห์ความเสี่ยงในภาคงบประมาณ รวมถึงภาระผูกพันและความเสี่ยงจากการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ โดยมีข้อเสนอแนะประกอบการพิจารณาดำเนินการและกำหนดนโยบายการคลังที่เกี่ยวข้องในอนาคต สรุปประเด็นสำคัญได้ ดังนี้
รัฐบาลยังมีพื้นที่ทางการคลังสำหรับดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลได้ในกรณีที่จำเป็น ภายใต้ความระมัดระวังที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแผนการคลังระยะปานกลาง ปีงบประมาณ 2566 - 2569 ที่กำหนดให้รัฐบาลดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลอย่างต่อเนื่องตามความจำเป็นในการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีการส่งสัญญาณการทยอยลดสัดส่วนขาดดุลต่อ GDP ในอีก 5 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องพิจารณาแนวทางในการเพิ่มความสามารถในการจัดเก็บรายได้ รวมถึงการลดทอนรายจ่ายต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นลง ควบคู่ไปกับการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อลดสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณต่อ GDP ในระยะยาวต่อไป
ประมาณการสัดส่วนภาระดอกเบี้ยต่อรายได้ในอนาคตมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยยังมีปัจจัยเสี่ยงจากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น ทั้งนี้ ในระยะสั้นถึงปานกลางคาดว่า ภาระดอกเบี้ยต่อรายได้จะยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ภายใต้การวิเคราะห์ติดตามอย่างใกล้ชิด ในขณะที่ในระยะยาว รัฐบาลควรเพิ่มความสามารถในการจัดเก็บรายได้เพื่อให้สัดส่วนภาระดอกเบี้ยต่อรายได้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และต้องจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐอย่างพอเพียง
ประมาณการสัดส่วนรายได้รัฐบาลสุทธิต่อ GDP ยังคงมีแนวโน้มลดลง ดังนั้น รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการพิจารณาทบทวนมาตรการยกเว้นภาษีและมาตรการลดหย่อนต่าง ๆ ที่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ ควบคู่ไปกับการพิจารณาผลักดันแนวทางในการเพิ่มความสามารถในการจัดเก็บรายได้รัฐบาลให้มีผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยคำนึงให้สอดคล้องตามความเหมาะสมและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะต่อไป
นอกจากนี้ รัฐบาลต้องพิจารณาบริหารจัดการด้านรายจ่ายให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด รวมถึงรัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณาขับเคลื่อนโครงการลงทุนภาครัฐนอกเหนือจากภาคงบประมาณ และเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้เม็ดเงินลงทุนของภาครัฐยังสามารถเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง