นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.พ. 65 อยู่ที่ระดับ 102.0 ขยายตัว 2.75% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 นับตั้งแต่เดือนก.ย. 64 สำหรับ 2 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.) ขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 2.38%
สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) ในเดือนก.พ. อยู่ที่ 64.8% ลดลงจาก 65.69% ในเดือน ม.ค. 65 โดยช่วงเดือนม.ค.-ก.พ. (2 เดือน) เฉลี่ยอยู่ที่ 65.25%
ทั้งนี้ ในเดือนก.พ. มีปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการผลิต คือ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและนโยบายการเปิดประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ทำให้อุปสงค์ในประเทศทยอยฟื้นตัว สะท้อนได้จากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียม ถึงแม้ผู้ประกอบการจะเผชิญกับแรงกดดันจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาพลังงานและค่าขนส่ง ตลอดจนความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่ส่งผลต่อราคาวัตถุดิบนำเข้า
ขณะเดียวกัน ในภาพรวมผู้ประกอบการยังสามารถบริหารจัดการต้นทุนการผลิตได้ค่อนข้างดี สะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เดือนก.พ. ขยายตัวที่ 8.0% เท่ากับเดือนม.ค. ที่ผ่านมา แม้ว่าราคาสินค้าและบริการหลายรายการจะปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก
นอกจากนี้ คำสั่งซื้อจากต่างประเทศหรือการส่งออกยังขยายตัวดี โดยการส่งออกในภาพรวมเดือนก.พ. ขยายตัว 16.2% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ส่วนสถานการณ์วิกฤตรัสเชีย-ยูเครนยังไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในเดือนก.พ. เนื่องจากการสู้รบและมาตรการการคว่ำบาตรจากนานาชาติเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนก.พ.
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ดัชนีผลผลิตส่งผลบวกในเดือนก.พ. 65 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
- น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15.88% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และน้ำมันเครื่องบิน เป็นหลัก โดยเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแบบ Test&Go ส่งผลให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจใกล้ระดับปกติมากขึ้น และการเดินทางที่เพิ่มขึ้นทำให้ความต้องการน้ำมันขนส่งเพิ่มสูงขึ้น
- เบียร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 40.94% จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้การบริโภคค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงตัวแทนจำหน่ายเร่งสต๊อกสินค้าสำหรับจำหน่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์
- ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.18% จากความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ายังมีปัญหา Supply shock ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ส่งผลให้มีการขาดแคลนชิปในตลาดโลก
- ยานยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.22% จากผลิตภัณฑ์รถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดกลาง และเครื่องยนต์ดีเซล เป็นหลัก โดยขยายตัวทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก หลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจใกล้เคียงในระดับปกติ รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศผ่านโครงการต่างๆ ของรัฐ และสินค้าเกษตรหลายรายการให้ผลผลิตดีและมีราคาสูง
- เสื้อผ้าสำเร็จรูป (ผ้าทอ) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 23.26% จากผลิตภัณฑ์ชุดกีฬา เสื้อยืด และชุดชั้นใน เป็นต้น มาจากการขยายตัวของตลาดส่งออกและตลาดในประเทศ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทั้งเอเชีย ยุโรป และอเมริกา
นายทองชัย กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทยยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวเช่นกัน ขณะเดียวกัน ยังต้องจับตาดูสถานการณ์ของรัสเซียและยูเครน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและเป็นตัวเร่งให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น
สำหรับปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อการผลิตในเดือน มี.ค. 65 ได้แก่
- มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เศรษฐกิจไทยมีทิศทางดีขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและนโยบายเปิดประเทศ
- แนวโน้มเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่า ยังคงเป็นปัจจัยที่ช่วยให้อุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในประเทศจะได้รับประโยชน์มากขึ้น
- การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและผลกระทบจากวิกฤตการณ์รัสเซีย-ยูเครน เศรษฐกิจโลกยังคงเติบโตต่อเนื่องแม้ว่าจะเป็นอัตราที่ชะลอตัวลง จากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชีย ทำให้หลายประเทศเริ่มกลับมาบังคับใช้มาตรการควบคุมการระบาด แต่ยังคงสามารถดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจได้ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ต้องติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในรัสเซียและยูเครน ไปจนถึงการทยอยใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากนานาชาติ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และเป็นตัวเร่งให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าว อาจเป็นอุปสรรคในการทยอยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการค้าโลกอาจไม่ได้รับความสะดวกเหมือนในช่วงเวลาปกติ
ส่วนปัจจัยที่ควรเฝ้าระวัง คือ ต้นทุนของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้น ทั้งจากราคาน้ำมัน ราคาวัตถุดิบ รวมถึงค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที), สถานการณ์ขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ยังไม่คลี่คลาย ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และจำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่สูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้ภาครัฐยกระดับมาตรการในการควบคุม
สำหรับในปี 65 สศอ. คาดว่า ดัชนี MPI จะขยายตัว 3.5-4.5% และ GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 2.2-3.2% เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุน คือ ตลาดส่งออกขยายตัวต่อเนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของคู่ค้า, อุปสงค์ในประเทศเริ่มฟื้นตัว ทำให้การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของภาครัฐ
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่ควรให้ความสำคัญ คือ กรณีพิพาทระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น เช่น น้ำมัน ข้าวสาลี ปุ๋ยเคมี และเหล็ก เป็นต้น จึงมีผลต่อต้นทุนการผลิต และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น, ความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดและการกลายพันธุ์ของโควิด-19 และการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต
ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เศรษฐกิจภายในประเทศกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้น หลังการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงการสนับสนุนผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของภาครัฐและการเปิดประเทศ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมได้รับคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่องและการส่งออกขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12
ดังนั้น สศอ. จึงได้ประมาณการภาพรวมเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 65 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในรัสเซียและยูเครน ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนก.พ. ที่ส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับสูงขึ้น ก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้น โดยในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดแล้ว