ดัชนีเชื่อมั่นธุรกิจ มี.ค. 65 เพิ่มขึ้นเหนือระดับ 50 ครั้งแรกในรอบ 1 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 1, 2022 15:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือนมี.ค. 65 ดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 50.7 โดยอยู่ที่ระดับ 50 เป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปีจากความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นในเกือบทุกธุรกิจ และเกือบทุกองค์ประกอบ โดยความเชื่อมั่นในภาคการผลิตปรับเพิ่มขึ้น นำโดยกลุ่มผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ดีขึ้นในเกือบทุกองค์ประกอบ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

สำหรับภาคอื่นที่ไม่ใช่การผลิต ความเชื่อมั่นของเกือบทุกธุรกิจปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรม และร้านอาหาร ที่ดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่เหนือระดับ 50 เป็นครั้งแรก ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก สอดคล้องกับมาตรการควบคุมฯ ของภาครัฐที่ผ่อนคลายต่อเนื่องทั้งการลดจำนวนวันจองที่พักเพื่อรอ ผลตรวจ RT-PCR การเปลี่ยนวิธีการตรวจโควิด-19 เป็นการตรวจ Antigen Test Kit (ATK) และลดเงินประกันสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม การคว่ำบาตรที่มีต่อรัสเซีย ส่งผลให้ราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบในกลุ่มสินแร่ธรรมชาติ เช่น เหล็ก และอลูมิเนียมเพิ่มสูงขึ้นมาก กดดันให้ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนของผู้ประกอบการปรับลดลงมาก และต่ำสุดตั้งแต่ปี 51 ซ้ำเติม ปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ และปัญหาการขนส่งทางเรือที่มีอยู่เดิมให้รุนแรงขึ้น

ขณะที่ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีฯ ลดลงมากจากระดับ 55.5 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ 50.9 ตามความเชื่อมั่นที่ลดลงในเกือบทุก องค์ประกอบและเกือบทุกหมวดธุรกิจ โดยเฉพาะด้านต้นทุนที่อยู่ในระดับต่ำมาก เนื่องจากกังวลว่าสถานการณ์การคว่ำบาตรรัสเซียอาจยืดเยื้อ และราคาปัจจัยการผลิตจะสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้การบริหารต้นทุนทำได้ยากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อวัตถุดิบคงคลังทยอยหมดลง

อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นของธุรกิจส่วนใหญ่ยังอยู่เหนือระดับ 50 ได้ สะท้อนว่ายังมีความเชื่อมั่นโดยรวมที่ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน ยกเว้นกลุ่มผลิตยานยนต์ กลุ่มผลิตเหล็ก กลุ่มก่อสร้าง และอสังหาฯ โดยเฉพาะกลุ่มก่อสร้าง ที่ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นด้านต้นทุน ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำมาก จากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ทำให้ราคาปัจจัยการผลิต หลายรายการปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ภาคธุรกิจส่วนหนึ่งเร่งสะสมวัตถุดิบมากกว่าปกติ เพื่อลดความเสี่ยงที่ต้นทุนอาจสูงขึ้นอีก สะท้อนจากดัชนีฯ ด้านวัตถุดิบคงคลังที่ลดลงและอยู่ต่ำกว่าระดับ 50

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการถึง 1 ใน 4 เห็นว่าต้นทุนการผลิตสูง เป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดต่อการดำเนินธุรกิจในเดือนนี้ และต้นทุนสูงเป็นข้อจำกัดอันดับ 1 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในอีก 12 เดือนข้างหน้า ที่เร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ 2.8% จาก 2.4% ในเดือนก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ