นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้เซ็นคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบมจ. อาคเนย์ประกันภัย และบมจ. ไทยประกันภัย แล้ว โดยให้มีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.65
เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินจนไม่สามารถดำเนินการธุรกิจต่อได้ นอกจากนี้ ยังมีการจัดสรรเงินสำรองตามมาตรา 23 และจัดสรรสินทรัพย์หนุนหลัง ตามมาตรา 27/4 ไม่เพียงพอ อีกทั้ง ผู้ถือหุ้นของบริษัทไม่สนับสนุนเงินทุน มีการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน และ ไม่บันทึกรายการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนและบันทึกล่าช้า
ในส่วนบมจ.อาคเนย์ประกันภัย ขาดทุนอยู่ 1,194 ล้านบาท ส่วนบมจ.ไทยประกันภัย ขาดทุน 12,496 ล้านบาท ขณะเดียวกันมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด โดย บมจ.อาคเนย์ประกันภัย -130.43% และบมจ.ไทยประกันภัย -2,653.94%
"หากปล่อยเวลาไป ผลกระทบต่อประชาชนก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงต้องเพิกถอนใบอนุญาตเพื่อยุติปัญหา ไม่ให้ความเสียหายต่อผู้บริโภคลุกลามไปมากกว่านี้"
สำหรับผู้เอาประกันที่ได้รับความเสียหายนั้น นายสุทธิพล กล่าวว่า ทาง คปภ.ได้จัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำ รับเรื่องร้องเรียน และอำนวยความสะดวกในการรับคำขอรับชำระหนี้ รวมทั้งการสนับสนุนบุคลากรในการรับคำขอรับชำระหนี้ ทั้งสำนักงาน คปภ. ส่วนกลางและสำนักงานส่วนภูมิภาค ทั่วประเทศ และกองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งจะดูแลรวมถึงลูกค้าประกันโควิดเจอ จ่าย จบ ที่มีอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 1.17 ล้านกรมธรรม์
ส่วนกรมธรรม์ที่เหลือจะถูกถ่ายโอนไปยัง กองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งมีสภาพคล่องเหลืออยู่ 5,000-7,000 ล้านบาท โดยกระบวนการช่วยเหลือขั้นแรก จะเจรจากับบริษัทอื่นๆ เพื่อรับโอนต่อไป เบื้องต้นมี 15 บริษัทพร้อมเข้ามาช่วยรับภาระดังกล่าว ด้านตัวเลขภาระหนี้สินของทั้ง 2 บริษัท โดย บมจ. อาคเนย์ประกันภัย มีหนี้ 18,140 ล้านบาท มีสินไหมค้างจ่าย 13,559.32 ล้านบาท ส่วน บมจ.ไทยประกันภัย หนี้สิน 15,000 ล้านบาท มีสินไหมค้างจ่าย 4,613 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม คปภ.ได้เตรียมแหล่งเงินทุนสำหรับเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุน โดยทางเลือกหนึ่ง คือ การหารือกับ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการกู้เงินจากธนาคารออมสิน เพื่อใช้ดูแลบรรเทาผลกระทบให้กับลูกค้าจากกรณีดังกล่าว แต่ยังไม่สรุปว่าต้องกู้อีกเท่าไหร่ เนื่องจากต้องพิจารณาสินทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ของทั้ง 2 บริษัทใช้ในการหักกลับบัญชีก่อน
นอกจากนี้ คปภ.จะได้ยื่นดำเนินการทางคดี กับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ตรวจสอบผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับบริษัทดังกล่าวทุกราย รวมทั้งจัดทีมตรวจสอบพิเศษ ตรวจสอบความถูกต้องกรณีโอนกรมธรรม์ไปยังบริษัทอื่น