ศูนย์วิเคราะห์ข้อมูล สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) รายงานผลสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยปี 64 พบว่า มูลค่า e-Commerce จะอยู่ที่ 4,013,399.13 ล้านบาท ขยายตัว 6.11% จากปี 63 เนื่องจากผู้ประกอบการและผู้บริโภคมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ได้ดีขึ้น จึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น ทั้งในเรื่องการเรียนออนไลน์ การทำงานที่บ้าน (WFH) การใช้ช่องทางออนไลน์ในการประกอบอาชีพ/ธุรกิจ รวมถึงมาตรการภาครัฐเพื่อเยียวยาผลกระทบจากโควิด เช่น โครงการคนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งได้ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การลดค่าน้ำค่าไฟ การลดค่าเทอม เราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น
ทั้งนี้ พบว่า มูลค่า e-Commerce แบบ B2C มีส่วนแบ่งสูงสุด 50.59% หรือมีมูลค่า 2,030,334.79 ล้านบาท ขณะที่ตลาด B2B มีส่วนแบ่งตลาด 27.24% หรือมีมูลค่า 1,093,257.19 ล้านบาท และตลาด B2G มีส่วนแบ่งตลาด 22.17% หรือมีมูลค่า 889,807.15 ล้านบาท
ขณะที่อุตสาหกรรมการค้าปลีกและค้าส่งจะมีมูลค่า e-Commerce มากสุดจำนวน 1,628,488.05 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 52.14% ของมูลค่าตลาด e-Commerce โดยอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตมากสุดคือ อุตสาหกรรมการประกันภัย ขยายตัว 110% ตามด้วยอุตสาหกรรมการค้าปลีกและค้าส่ง ขยายตัว 13.51% และอุตสาหกรรมศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ ขยายตัว 9%
จากผลการสำรวจดังกล่าวสะท้อนถึงการเติบโตของธุรกิจ e-Commerce ในประเทศไทยอย่างมาก ซึ่งเป็นผลจาก
1.พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19
2. การเติบโตของแพลตฟอร์ม Ride-Hailing ซึ่งเป้นบริการด้านต่างๆในชีวิตประจำวันที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งาน เช่น การส่งอาหาร การเดินทาง เป็นต้น
3. การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เป็นกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ e-Commerce มากขึ้น
4. กลยุทธ์ในการดึงดูดผู้ใช้งานผ่านแพลตฟอร์ม e-Marketplaces
5. การขยายบริการใหม่ๆ ของธุรกิจขนส่งสินค้าหรือโจิสติกส์แบบครบวงจร