นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และประธานกรรมการบริษัทบางจากไบโอเอทานอล ประเมินการปล่อยคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร อาจช่วยหยุดการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันและพลังงานในตลาดโลกได้ระดับหนึ่ง โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบ WTI ได้ปรับลงมาในระดับต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในขณะนี้ และราคาน้ำมันดิบ WTI อาจลงต่ำกว่า 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเดือน พ.ค. ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ทะเลเหนืออยู่ที่ระดับ 115 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบอาจลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลราคาขายปลีกน้ำมันประเภทต่างๆ หน้าสถานีบริการน้ำมันปรับลงมาต่อเนื่องช่วง 6 เดือนข้างหน้า
ประกอบกับมีความเป็นไปได้ที่ระบอบปูตินรัสเซียต้องการปล่อยน้ำมันด้วยการขายในราคาส่วนลด เพื่อนำเงินไปฟื้นฟูเศรษฐกิจและสนับสนุนการทำสงครามรุกรานยูเครน เป็นอีกปัจจัยหนึ่งกดดันให้ราคาน้ำมันและราคาพลังงานในตลาดโลกอ่อนตัวลงบ้าง ขณะเดียวกัน เอเปคพลัสยังคงยึดข้อตกลงเดิมเพิ่มกำลังการผลิตเพียง 432,000 บาร์เรลต่อวัน ปัจจัยนี้ยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
ราคาน้ำมันเบนซินมีแนวโน้มปรับลงจากการเพิ่มการส่งออกเบนซินของอินเดียและจีนในเดือน เม.ย. ซึ่งคาดว่าได้ประโยชน์จากการซื้อน้ำมันดิบราคาถูกจากรัสเซีย นอกจากนี้ยังเป็นผลจากน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 785,000 บาร์เรลในช่วงปลายเดือนมีนาคม ส่วนราคาน้ำมันดีเซลค่อนข้างทรงตัว การผลิตไบโอเอทานอลมีต้นทุนสูงขึ้นจากราคาพืชพลังงานมีราคาปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคามันสำปะหลัง ราคากากน้ำตาลมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า การระบายน้ำมันออกจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ เป็นสัญญาณว่าสหรัฐไม่ได้คาดหวังว่าวิกฤตการณ์ในยูเครนจะได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมองว่าการแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ เป็นเพียงการแก้ปัญหาชั่วคราว และไม่สามารถแก้ไขการสมดุลอุปสงค์อุปทานเชิงโครงสร้างในตลาดพลังงานโลกได้
"ปริมาณน้ำมันดิบที่ปล่อยเพิ่มมาในตลาด 180 ล้านบาร์เรลในระยะ 6 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ ประเทศพันธมิตรยังสามารถระบายน้ำมันเพิ่มได้อีกเต็มที่ถึง 50 ล้านบาร์เรล เท่ากับจะมีปริมาณน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นใน 6 เดือนข้างหน้าจากคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์โดยรวม 230 ล้านบาร์เรล น่าจะทำให้ราคาน้ำมันไม่ปรับตัวขึ้นสูงเหนือระดับ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอย่างน้อยในระยะ 6 เดือนข้างหน้า" นายอนุสรณ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า แรงกดดันจากราคาพลังงานต่ออัตราเงินเฟ้อโลกเบาลง แต่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ยังคงปรับตัวสูงอยู่อันเป็นผลจากสงครามระบอบปูตินรัสเซีย จึงทำให้แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อโลกยังทรงตัวในระดับสูง ประกอบกับการติดขัดในระบบห่วงโซ่อุปทานและระบบโลจิสติกส์ทำให้วัตถุดิบบางชนิดขาดแคลนและกระจายไปยังแหล่งผลิตสินค้าไม่ทั่วถึง แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะปรับเพิ่มระดับหนึ่งเท่านั้น การปรับขึ้นดอกเบี้ยอาจจะไม่ได้ช่วยชะลอปัญหาเงินเฟ้อได้มากนัก เพราะเงินเฟ้อเป็นผลจากปัจจัยอุปทาน ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงมากกว่าปัจจัยอุปสงค์ กำลังซื้อดึงราคาให้สูงขึ้น
"การตัดสินใจไม่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงเป็นการตัดสินใจที่สอดคล้องกับสถานการณ์ของปัญหาเศรษฐกิจในขณะนี้" นายอนุสรณ์ กล่าว
ทั้งนี้ มาตรการซื้อขายพลังงานรัสเซียในรูปเงินรูเบิล เพียงช่วยประคองค่าเงินรูเบิลแต่ไม่ได้ช่วยแก้วิกฤติเศรษฐกิจรัสเซียจากการคว่ำบาตรดีขึ้น คาดว่าเศรษฐกิจรัสเซียหดตัวไม่ต่ำกว่า 12-15% ผลจากการรุกรานประเทศอื่นและถูกคว่ำบาตร ส่วนยูเครนติดลบไม่น้อยกว่า 35-40% จากผลของสงครามและความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เฉพาะไตรมาสแรกปีนี้ จากการประเมินเบื้องต้นโดยหน่วยงานทางเศรษฐกิจของรัฐบาลยูเครน เศรษฐกิจยูเครนไตรมาสแรกหดตัวไม่ต่ำกว่า 16% โดยสงครามเริ่มเกิดขึ้นวันที่ 24 ก.พ. ความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมดหยุดชะงักเกิดขึ้นอย่างชัดเจนในเดือนมีนาคมซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของไตรมาสแรก
"สงครามมีแนวโน้มยืดเยื้อต่อไปแต่ไม่ขยายวง สร้างความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจต่อประชาชนยูเครนและรัสเซีย จะมีผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นชาวยูเครนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน นอกจากนี้ อาจเกิดภาวการณ์ขาดแคลนพลังงานในยุโรป หากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสงครามเศรษฐกิจตอบโต้กันเพิ่มขึ้น การขาดแคลนพลังงานอาจถึงขั้นเป็น Energy Supply Disruption ครั้งใหญ่ นับตั้งแต่วิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่หนี่งใน พ.ศ. 2516" นายอนุสรณ์กล่าว
สำหรับมาตรการของรัสเซียให้ประเทศที่มีพฤติกรรมไม่เป็นมิตรซื้อน้ำมันและพลังงานจากรัสเซียเป็นเงินรูเบิลนั้น จะช่วยพยุงค่าเงินรูเบิลได้ระดับหนึ่งเท่านั้น และเป็นภาวะชั่วคราว การชะลอตัวลงของการดิ่งลงของเงินสกุลรัสเซียเป็นผลจากมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุน (Capital Control) มากกว่า แต่มาตรการนี้ก็ไม่อาจหยุดยั้งการทรุดตัวลงของเงินรูเบิลได้อย่างยั่งยืน เพราะรัสเซียจะประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจจากการคว่ำบาตรและสงคราม โอกาสที่ค่าเงินรัสเซียจะกลับไปอยู่ที่ระดับ 70 กว่ารูเบิลต่อ 1 ดอลลาร์ในช่วงก่อนสงครามนั้นเป็นไปได้น้อยมากในปีนี้ โดยค่าเงินรูเบิลทรุดหนักในช่วงต้นเดือนมีนาคม โดยดิ่งลงอ่อนค่าสุดไปสู่ระดับ 130-177 รูเบิล มูลค่าหายไปมากกว่า 1 ใน 3 ในช่วงวันที่ 8 มีนาคม อ่อนค่ากว่า 42% (จาก 124 รูเบิลดิ่งลงมาที่ 177.26 รูเบิลต่อดอลลาร์) ก่อนฟื้นกลับมาอยู่ที่ระดับ 80 ดอลลาร์ต่อรูเบิลจากมาตรการแทรกแซงตลาดของธนาคารกลางพร้อมมาตรการให้ซื้อขายพลังงานในรูปเงินสกุลรูเบิล อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินรูเบิลต่อเงินบาทอยู่ที่ 0.41 บาทต่อ 1 รูเบิล
"ปัญหาการอ่อนค่าของเงินรูเบิล จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้วิกฤตการณ์เศรษฐกิจรัสเซียหดตัว มีแรงกดดันเงินเฟ้อรุนแรง และเข้าสู่ภาวะ Stagflation อย่างเต็มรูปแบบ" นายอนุสรณ์ กล่าว