ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในงาน "เหลียวหลัง และหน้า อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย"ชื่นชมทัศนคติของ ธปท.ในปัจจุบันเกี่ยวกับการดูแลเรื่องคริปโทเคอร์เรนซี ที่ห้ามไม่ให้นำคริปโทฯ ไปใช้ในการซื้อ-ขายสินค้า แต่ในขณะเดียวกัน ธปท.ได้พัฒนาเกี่ยวกับดิจิทัลเคอร์เรนซี่ขึ้นมา ซึ่งอยากให้ ธปท.พัฒนาให้เร็วกว่าแผนที่วางไว้ เพราะช่วยป้องกันไม่ให้คริปโทเคอร์เรนซี่ขยายเข้าไปในวงการค้าได้
ส่วนมุมมองต่อนโยบายการคลังในปัจจุบันนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เห็นว่า นโยบายการคลังในปัจจุบันเหมือนไม่มีนโยบายการคลัง เพราะเป็นการใช้เงินงบประมาณไปเรื่อยๆ โดยไม่คำนึงว่าจะมีการขาดดุลงบประมาณเท่าไรถึงจะเพียงพอ ทั้งนี้ มองว่าตอนนี้ประเทศควรจะเน้นการมีนโยบายการคลังที่จริงจัง ขณะที่นโยบายการเงินก็ยังคงต้องทำหน้าที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจต่อไป เพราะหากเศรษฐกิจของประเทศไม่เติบโต การเก็บภาษีเพื่อนำมาพัฒนาประเทศก็จะทำได้ยาก
"มันอยู่ตรงนี้ ตรงที่คนที่ดำเนินนโยบายการคลัง เขาไม่ดำเนินนโยบายการคลังในสิ่งที่ควรจะทำ ถ้าทำในสิ่งที่ควรทำ นโยบายการเงินก็ช่วยสนับสนุน ก็หมดปัญหาไป อยู่ที่ผู้นำรัฐบาลว่าจะคิดหรือไม่คิด" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ระบุ
พร้อมฝากให้ ธปท. ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องคำนึงว่าจะถูกใจนักการเมืองหรือไม่ แต่ไม่ได้หมายความว่าทำตัวเป็นอิสระโดยไม่ฟังใคร แต่ทั้งนี้ต้องฟังความเห็นจากผู้ที่ทำงานด้านเศรษฐกิจ โดยนำความคิดเห็นมาประกอบกัน นโยบายการเงินต้องประสานกับนโยบายการคลังเพื่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจ ผู้ว่าฯ ธปท.จะต้องประสานงานกับ รมว.คลัง ให้เข้าใจกันอย่างดี ไม่ทำตัวเหนือกระทรวงการคลัง แต่ไม่ใช่ทำตามไปหมด และสุดท้าย ธปท. ต้องถือว่าธนาคารพาณิชย์เป็นลูก ไม่ใช่เป็นศัตรู หากทำผิดก็ลงโทษได้ ให้ปรับปรุงแก้ไขให้ดี แต่ไม่ใช่ลงโทษเพื่อทำลาย เพราะธนาคารพาณิชย์เป็นกำลังสำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจ ธปท.ช่วยเศรษฐกิจไม่ได้ถ้าไม่มีธนาคารพาณิชย์
นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าการ ธปท. กล่าวในงานเดียวกันวา ความท้าทายของ ธปท.ที่เห็นได้ชัดเจนในขณะนี้ คือความท้าทายที่มาจากด้านเทคโนโลยี ซึ่งทำให้เกิดเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ อยู่เสมอ แม้จะมีข้อดีที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนในยุคปัจจุบันและเป็นทางเลือกที่ดี แต่ในฐานะ ธปท.ต้องมองไปข้างหน้าว่าจะทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง และจะมีผลกระทบมากน้อยเพียงใด เช่น ทำให้ Landscape ของสถาบันการเงินเปลี่ยนแปลงแค่ไหน การตอบสนองต่อผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงแค่ไหน ซึ่ง ธปท.ต้องทันต่อเหตุการณ์นั้น หลายเรื่องเปรียบเหมือนต้องไล่ตามสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา แต่เชื่อในพื้นฐานที่วางไว้ดี
"ในเรื่องคริปโทฯ เราใช้ความเป็นผู้กำกับดูแลที่จะบอกว่าเราไม่สนับสนุนให้ทำ เป็นการออกแรงอย่างทันสมัย การทำงานของธปท.อาจยากขึ้น เพราะมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากขึ้นกว่าในอดีต" นายชัยวัฒน์ กล่าว
พร้อมกันนี้ นายชัยวัฒน์ ยังให้ความเห็นต่อนโยบายการคลังในปัจจุบันว่า ในส่วนของภาครัฐค่อนข้างมีความน่าเป็นห่วง เพราะภาระหนี้สูง และยังมีการขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ซึ่งภาระทางการคลังได้ซ่อนปัญหาไว้ในระยะยาว นอกจากนี้ ยังทำให้ประชาชนมองว่าการทำนโยบายประชานิยมกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่นโยบายการคลังไม่สามารถดูแลตัวเองได้ดีกว่านี้ ภาระจะตกมาอยู่ที่นโยบายการเงิน
"ปัญหาเศรษฐกิจหลายเรื่องที่เกิดขึ้นมักมาจากภาคของ real sector ซึ่งสุดท้ายมาส่งผลให้การเงินไม่มีเสถียรภาพ ทั้งที่การเงินอยู่ปลายเหตุ ทำให้เป็นภาระของนโยบายการเงินที่จะต้องเข้ามาแก้ไข ดังนั้นต้องพยายามออกแรงพูดุคุยกับรัฐบาล ที่ส่วนมากเขาก็ไม่ค่อยฟัง เพราะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผมว่าเราจะเหนื่อยมาก แต่ก็ต้องพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และเมื่อไรที่มีความจำเป็นชัดเจนว่าเราต้องทำนโยบายที่คนไม่ชอบ เราก็ต้องใจแข็งที่จะทำ เพราะถ้าไม่มีเรา (ธปท.) เป็นด่านสุดท้าย ก็ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะตกเหวไปอยู่ที่ไหน" นายชัยวัฒน์ระบุ
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่า ธปท. กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ขณะนี้ไม่ใช่เรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจ เป็นเรื่องการบริหารจัดการ หรือ ธรรมาภิบาลของประเทศ เป็นเรื่องระบบยุติธรรม ซึ่งมีคนจำนวนไม่น้อย เชื่อว่าธรรมาภิบาลไม่ดี จึงเกิดการขัดขวาง ไม่เห็นด้วย (discourage) เช่น กรณีประเทศ มีผู้ที่บอกว่าขาดคนที่เก่งความรู้เทคโนโลยี ซึ่งเด็กรุ่นใหม่เก่งมาก แต่เลือกไปทำงานที่ต่างประเทศ เป็นเรื่องที่กว้างกว่าเศรษฐกิจจริง ไม่ใช่เรื่องนโยบายการเงินการคลัง จึงจำเป็นต้องมีการปรับวิธีการคิด (Rethink) หรือปรับรูปแบบ (Reform) การบริหารราชการใหม่