(เพิ่มเติม1) "หม่อมอุ๋ย" เร่ง ธปท.พัฒนาดิจิทัลเคอร์เรนซี่คุมเกม-เตือนอย่ามองแบงก์พาณิชย์เป็นศัตรู

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 4, 2022 18:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานเสวนา "เหลียวหลัง แลหน้า อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย" โดยได้ชื่นชมทัศนคติของ ธปท.ในปัจจุบันเกี่ยวกับการดูแลเรื่องคริปโทเคอร์เรนซี่ ที่ห้ามไม่ให้นำคริปโทฯ ไปใช้ในการซื้อ-ขายสินค้า แต่ในขณะเดียวกัน ธปท.ได้พัฒนาเกี่ยวกับดิจิทัลเคอร์เรนซี่ขึ้นมา ซึ่งอยากให้ ธปท.พัฒนาให้เร็วกว่าแผนที่วางไว้ เพราะช่วยป้องกันไม่ให้คริปโทเคอร์เรนซี่ขยายเข้าไปในวงการค้าได้

ส่วนมุมมองต่อนโยบายการคลังในปัจจุบันนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เห็นว่า นโยบายการคลังในปัจจุบันเหมือนไม่มีนโยบายการคลัง เพราะเป็นการใช้เงินงบประมาณไปเรื่อยๆ โดยไม่คำนึงว่าจะมีการขาดดุลงบประมาณเท่าไรถึงจะเพียงพอ ทั้งนี้ มองว่าตอนนี้ประเทศควรจะเน้นการมีนโยบายการคลังที่จริงจัง ขณะที่นโยบายการเงินก็ยังคงต้องทำหน้าที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจต่อไป เพราะหากเศรษฐกิจของประเทศไม่เติบโต การเก็บภาษีเพื่อนำมาพัฒนาประเทศก็จะทำได้ยาก

"มันอยู่ตรงนี้ ตรงที่คนที่ดำเนินนโยบายการคลัง เขาไม่ดำเนินนโยบายการคลังในสิ่งที่ควรจะทำ ถ้าทำในสิ่งที่ควรทำ นโยบายการเงินก็ช่วยสนับสนุน ก็หมดปัญหาไป อยู่ที่ผู้นำรัฐบาลว่าจะคิดหรือไม่คิด" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ระบุ

พร้อมฝากให้ ธปท. ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องคำนึงว่าจะถูกใจนักการเมืองหรือไม่ แต่ไม่ได้หมายความว่าทำตัวเป็นอิสระโดยไม่ฟังใคร แต่ทั้งนี้ต้องฟังความเห็นจากผู้ที่ทำงานด้านเศรษฐกิจ โดยนำความคิดเห็นมาประกอบกัน นโยบายการเงินต้องประสานกับนโยบายการคลังเพื่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจ ผู้ว่าฯ ธปท.จะต้องประสานงานกับ รมว.คลัง ให้เข้าใจกันอย่างดี ไม่ทำตัวเหนือกระทรวงการคลัง แต่ไม่ใช่ทำตามไปหมด และสุดท้าย ธปท. ต้องถือว่าธนาคารพาณิชย์เป็นลูก ไม่ใช่เป็นศัตรู หากทำผิดก็ลงโทษได้ ให้ปรับปรุงแก้ไขให้ดี แต่ไม่ใช่ลงโทษเพื่อทำลาย เพราะธนาคารพาณิชย์เป็นกำลังสำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจ ธปท.ช่วยเศรษฐกิจไม่ได้ถ้าไม่มีธนาคารพาณิชย์

นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าการ ธปท. กล่าวในงานเดียวกันวา ความท้าทายของ ธปท.ที่เห็นได้ชัดเจนในขณะนี้ คือความท้าทายที่มาจากด้านเทคโนโลยี ซึ่งทำให้เกิดเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ อยู่เสมอ แม้จะมีข้อดีที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนในยุคปัจจุบันและเป็นทางเลือกที่ดี แต่ในฐานะ ธปท.ต้องมองไปข้างหน้าว่าจะทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง และจะมีผลกระทบมากน้อยเพียงใด เช่น ทำให้ Landscape ของสถาบันการเงินเปลี่ยนแปลงแค่ไหน การตอบสนองต่อผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงแค่ไหน ซึ่ง ธปท.ต้องทันต่อเหตุการณ์นั้น หลายเรื่องเปรียบเหมือนต้องไล่ตามสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา แต่เชื่อในพื้นฐานที่วางไว้ดี

"ในเรื่องคริปโทฯ เราใช้ความเป็นผู้กำกับดูแลที่จะบอกว่าเราไม่สนับสนุนให้ทำ เป็นการออกแรงอย่างทันสมัย การทำงานของธปท.อาจยากขึ้น เพราะมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากขึ้นกว่าในอดีต" นายชัยวัฒน์ กล่าว

พร้อมกันนี้ นายชัยวัฒน์ ยังให้ความเห็นต่อนโยบายการคลังในปัจจุบันว่า ในส่วนของภาครัฐค่อนข้างมีความน่าเป็นห่วง เพราะภาระหนี้สูง และยังมีการขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ซึ่งภาระทางการคลังได้ซ่อนปัญหาไว้ในระยะยาว นอกจากนี้ ยังทำให้ประชาชนมองว่าการทำนโยบายประชานิยมกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่นโยบายการคลังไม่สามารถดูแลตัวเองได้ดีกว่านี้ ภาระจะตกมาอยู่ที่นโยบายการเงิน

"ปัญหาเศรษฐกิจหลายเรื่องที่เกิดขึ้นมักมาจากภาคของ real sector ซึ่งสุดท้ายมาส่งผลให้การเงินไม่มีเสถียรภาพ ทั้งที่การเงินอยู่ปลายเหตุ ทำให้เป็นภาระของนโยบายการเงินที่จะต้องเข้ามาแก้ไข ดังนั้นต้องพยายามออกแรงพูดุคุยกับรัฐบาล ที่ส่วนมากเขาก็ไม่ค่อยฟัง เพราะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผมว่าเราจะเหนื่อยมาก แต่ก็ต้องพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และเมื่อไรที่มีความจำเป็นชัดเจนว่าเราต้องทำนโยบายที่คนไม่ชอบ เราก็ต้องใจแข็งที่จะทำ เพราะถ้าไม่มีเรา (ธปท.) เป็นด่านสุดท้าย ก็ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะตกเหวไปอยู่ที่ไหน" นายชัยวัฒน์ระบุ

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่า ธปท. กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ขณะนี้ไม่ใช่เรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจ เป็นเรื่องการบริหารจัดการ หรือธรรมาภิบาลของประเทศ เป็นเรื่องระบบยุติธรรม ซึ่งมีคนจำนวนไม่น้อย เชื่อว่าธรรมาภิบาลไม่ดี จึงเกิดการขัดขวาง ไม่เห็นด้วย (discourage) เช่น กรณีประเทศมีผู้ที่บอกว่าขาดคนที่เก่งความรู้เทคโนโลยี ซึ่งเด็กรุ่นใหม่เก่งมาก แต่เลือกไปทำงานที่ต่างประเทศ เป็นเรื่องที่กว้างกว่าเศรษฐกิจจริง ไม่ใช่เรื่องนโยบายการเงินการคลัง จึงจำเป็นต้องมีการปรับวิธีการคิด (Rethink) หรือปรับรูปแบบ (Reform) การบริหารราชการใหม่

พร้อมมองว่า เสาหลักสำคัญ 3 เสาของ ธปท. คือ 1. การมีกรอบนโยบายการเงินที่ยืดหยุ่น มีธรรมาภิบาล และมีเครื่องมือทางการเงินที่เพียงพอในการแก้ไขปัญหา 2.มีบุคลากรที่มีความสามารถ และระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ 3.มีประวัติศาสตร์ที่ดี ค่านิยมที่ดี สามารถปรับตัวให้เข้ากับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปได้

นายประสาร ยังให้ความเห็นต่อเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมองว่าขณะนี้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเพียงฉากหนึ่ง บทหนึ่ง เป็นจุดเล็กๆ ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านเข้ามา ซึ่งในอนาคตก็อาจมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นมาอีก ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายที่ไม่รู้จบ แต่หลักการของ ธปท. คือ 1. ต้องไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีต 2. ถ้ามีเรื่องต้องปรับเปลี่ยนเมื่อไร จะต้องรู้ก่อน 3. ใช้ประโยชน์จากความหลากหลายให้เกิดประสิทธิภาพ

ด้าน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ได้เคยผลักดันให้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลภายนอกในงานสัมมนาวิชาการประจำปี ทำให้ได้แนวคิดใหม่ๆ จากทุกภาคส่วนเพื่อเปิดหูเปิดตา ธปท.ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประเทศ แต่ปัจจุบันการจัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี จะเป็นการนำเสนอความคิดเห็นของบุคลากรของ ธปท.เสียส่วนใหญ่ ทำให้ไม่มีใครกล้ามาถกเถียงด้วยเพราะเกรงใจ ธปท. นอกจากนี้ ยังมีอีกเรื่องที่พยายามผลักดัน คือความเป็นอิสระในการทำงาน ซึ่งมาจนถึงปัจจุบันประสบความสำเร็จเพียงครึ่งเดียว

ส่วนนางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีประสบการณ์การทำงานในการแก้ไขปัญหาวิกฤต 2 ครั้ง คือ ในปี 2540 และปี 2551 ซึ่งมีความท้าทายและความตื่นเต้น โดยงานหลักของ ธปท. คือการสร้างความเชื่อมั่น และคิดว่าในการทำงานของผู้ว่าฯ ธปท. แต่ละคนน่าจะมีความท้าทายต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม

ในช่วงที่เป็นผู้ว่าฯ ธปท. ต้องเผชิญปัญหาเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นประเทศเปิด และมีระบบเศรษฐกิจเล็ก ทำให้ต้องกำหนดมาตรการกันสำรอง 30% เพื่อสกัดเงินทุนต่างประเทศระยะสั้นไหลเข้าอย่างเดียว ซึ่งช่วยให้มีเวลาที่จะติดตามแหล่งที่มาของเงินทุนได้มากขึ้น ธปท.มีหน้าที่ทำอย่างไรให้การดูแลเครื่องจักรทางเศรษฐกิจทุกตัวให้สามารถทำงานอย่างแข็งแรงได้อย่างยั่งยืน โครงสร้างเศรษฐกิจมีความสมดุล โดย ธปท.มีความจำเป็นที่จะไปพูดคุยกับภาคเอกชน

สิ่งที่ท้าทายมากขณะนี้ คือปัญหาเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นไปมาก ซึ่งรัฐบาลมองว่ามีสาเหตุจากราคาน้ำมัน การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเป็นการซ้ำเติมประชาชน ซึ่ง ธปท.จำเป็นต้องชี้แจงให้ประชาชนเกิดความเข้าใจถึงการทำงานด้วยหลักการและเหตุผล

สำหรับวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่สภาพคล่องเหือดหายไปจากระบบนั้น ยังมีความโชคดีที่ธนาคารพาณิชย์ไทยไม่ได้พึ่งพาเงินในระบบจึงไม่เกิดปัญหาเรื่องสินเชื่อ นอกจากนี้ ยังมีการยกระดับธนาคารพาณิชย์ให้รับรู้เรื่องการบริหารความเสี่ยงมากขึ้น จนสามารถผ่านพ้นวิกฤตได้

ส่วนความท้าทายทางการเมืองในฐานะที่ได้ทำงานร่วมกับ 4 รัฐบาล และ 5 รมว.คลังนั้น โดยผลกระทบด้านบวกในช่วงที่เป็น สนช. ทำงานง่ายขึ้น เพราะส่วนหนึ่งมาจากภาคเอกชน ส่วนผลกระทบด้านลบนั้น เคยเจอฝ่ายการเมืองอยากเอาคนของตัวเองที่มีประวัติด่างพร้อยเข้ามาเป็นกรรมการในธนาคารที่กองทุนการเงินฯ ถือหุ้นอยู่ แต่สามารถดำเนินการป้องกันไว้ได้ แม้จะเกิดแรงกดดันพอสมควร และถือเป็นเรื่องสำคัญที่ ธปท.ต้องยึดความถูกต้อง โดยไม่สนใจว่าจะเกิดผลกระทบตามมาอย่างไร และในช่วงปี 52-53 ที่เกิดการชุมนุมทางการเมือง ธปท.สามารถดูแลระบบสถาบันการเงินของประเทศไม่ให้เกิดผลกระทบจากความเสี่ยงทางการเมือง

"เรื่องผู้บริหารมีความสำคัญ หากไม่มีความสุจริต จะเกิดปัญหามากมายตามมาในภายหลัง" นางธาริษา กล่าว

ด้านนายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ทำหน้าที่ผู้ว่าการ ธปท. ไม่ต้องเผชิญปัญหาเรื่องความอ่อนแอของธนาคารพาณิชย์ สถานการณ์ต่างประเทศที่มีดุลบัญชีเกินดุล ขณะที่อัตราเงินเฟ้อต่ำ ซึ่งเป็นผลดีจากการวางรากฐานจากอดีตผู้ว่าฯ ธปท. ที่ผ่านมา แต่ปัญหาที่เจอคือ ความไม่แน่นอนทางการเมืองต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ทำให้มีการแสวงหาผลประโยชน์สูงจนเกิดปัญหาประเมินความเสี่ยงไว้ต่ำ ซึ่งอาจส่งผลต่อเสถียรภาพต่อเงินทุน ได้แก่ กรณีภาคเอกชนออกหุ้นกู้ที่ไม่ได้จัดอันดับความเสี่ยง ซึ่งต้องมีการวางมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาไฟลามทุ่ง, กรณีสหกรณ์ออมทรัพย์เกิดปัญหาการทุจริต, กรณีสถาบันการเงินเฉพาะกิจมีการจัดทำนโยบายประชานิยม

นอกจากนี้ยังมีปัญหา 1.หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงที่จะกลายเป็นระเบิดเวลา การทำธุรกิจที่ส่งเสริมให้คนเป็นหนี้เกินความจำเป็น ทำให้เกิดปัญหาสินเชื่อเงินทอน ที่ให้วงเงินสูงกว่าความเป็นจริง และ 2.ภัยไซเบอร์

ขณะที่งานด้านพัฒนา ได้แก่ 1.แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่บิดเบือน ซึ่งมีผลต่อการแข่งขัน ผลิตภาพ และสร้างความเหลื่อมล้ำ เช่น การชำระเงินทางอิเลคทรอนิกส์เพื่อลดต้นทุนการทำธุรกรรม เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมได้เหมือนเดิม, การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินกับต่างประเทศ 2.สร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้บริการทางการเงิน เช่น ปรับดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ การปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยทันสถานการณ์ 3.การสร้างความเป็นเลิศให้องค์กร ให้มีความรอบรู้ เพื่อให้ได้รับการยอมรับ และ 4.เนื่องจากมีแรงกดดันสูงและกระทบเรื่องผลประโยชน์ ธปท.จึงต้องมีมาตรการดูแลขวัญและกำลังใจของบุคลากร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ