นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถิติการส่งออกของไทยไปกลุ่มประเทศ RCEP ในช่วง 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ. 65) พบว่า มีมูลค่า 23,501.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 52.5% ของการส่งออกไทยไปตลาดโลก ขยายตัว 9.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปอาเซียนมากที่สุด 24.8% รองลงมา คือประเทศจีน 11.5% ญี่ปุ่น 9.4% ออสเตรเลีย 3.9% เกาหลีใต้ 2.3% และนิวซีแลนด์ 0.6%
ขณะที่ไทยนำเข้าจากกลุ่มประเทศ RCEP มูลค่า 28,890.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 16.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยนำเข้าจากประเทศจีนมากที่สุด 25.4% รองลงมา คืออาเซียน 17.2% ญี่ปุ่น 11.8% เกาหลีใต้ 3.6% ออสเตรเลีย 2.9% และนิวซีแลนด์ 0.3%
สำหรับในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 65 มีการใช้สิทธิ์ RCEP ส่งออก มูลค่า 1,165.52 ล้านบาท คิดเป็น 0.15% ของการส่งออกไทยไป RCEP โดยผู้ส่งออกขอใช้สิทธิ์ RCEP ส่งออกไปญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้มากที่สุด ขณะที่การใช้สิทธิ์ RCEP นำเข้ามีมูลค่า 494 ล้านบาท คิดเป็น 0.05% ของการนำเข้าจาก RCEP โดยการใช้สิทธิ์นำเข้าจากประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และเวียดนาม มากสุดตามลำดับ
"การค้าของไทยกับกลุ่มประเทศ RCEP มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งกรมฯ ได้ดำเนินโครงการ "จับคู่กู้เงิน ลุยตลาด RCEP" ร่วมกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดหาสินเชื่อให้ผู้ประกอบการไทยที่สนใจส่งออกไปตลาด RCEP รวมทั้งยังได้ลงพื้นที่จัดสัมมนา "ชี้ช่องโอกาส ลุยตลาด RCEP" ทั้งในกรุงเทพฯ และในภูมิภาค เพื่อให้ความรู้และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP อย่างเต็มที่อีกด้วย" นางอรมน กล่าว
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เริ่มมีผลใช้บังคับ เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 65 ปัจจุบันมีประเทศสมาชิก RCEP ให้สัตยาบันความตกลง RCEP แล้ว 13 ประเทศ ได้แก่ บรูไนฯ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ส่วนอีก 2 ประเทศ คือ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย อยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้สัตยาบัน