นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อเดือน มี.ค.65 อยู่ที่ระดับ 104.79 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.73% จากตลาดคาด 5.7-6.3% และเพิ่มขึ้น 0.66% จากเดือน ก.พ.65 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 13 ปี ส่งผลให้ CPI ไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค. 65) เฉลี่ยอยู่ที่ 4.75%
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน มี.ค.65 อยู่ที่ 102.43 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.00% และเพิ่มขึ้น 0.23% จากเดือนก.พ. 65 ส่งผลให้ CORE CPI ไตรมาสแรกของปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 1.43%
"อัตราเงินเฟ้อในเดือนมี.ค.ที่สูงขึ้น 5.73% เป็นผลจากสินค้าและบริการในประเทศที่ปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุน ทั้งราคาพลังงาน วัตถุดิบที่นำเข้า ตลอดจนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และพันธมิตรต่อรัสเซีย ส่งผลต่อเศรษฐกิจหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เพราะเศรษฐกิจเปราะบาง" ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ
สำหรับในเดือนมี.ค.นี้ สินค้าและบริการสำคัญราคาปรับสูงขึ้นจากเดือนก.พ. รวม 178 รายการ ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง, อาหารสำเร็จรูป, มะนาว, ไข่ไก่, ผักกาดขาด, ต้นหอม และส้มเขียวหวาน เป็นต้น ส่วนสินค้าและบริการที่ราคาลดลงจากเดือนก.พ. รวม 95 รายการ ได้แก่ ข้าวสารเจ้า, เนื้อสุกร, หอมแดง, ถั่วฝักยาว, มะเขือเทศ, สบู่ และผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เป็นต้น
พร้อมกันนี้ สนค. ยังได้ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของปี 65 ใหม่มาที่ 4-5% หรือเฉลี่ยทั้งปีที่ 4.5% ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 13 ปี จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 0.7-2.4% โดยมาจากการปรับสมมติฐานที่สำคัญ คือ 1. อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 65 อยู่ที่ 3.5-4.5% 2.ราคาน้ำมันดิบดูไบทั้งปี 90-110 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนทั้งปี 32-31 บาท/ดอลลาร์
"นอกจากสมมติฐานดังกล่าวแล้ว จากมาตรการช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพจากภาครัฐในปี 64 ทำให้อัตราเงินเฟ้อในปีก่อนมีฐานที่ต่ำในช่วงมีมาตรการ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อในปี 65 ให้เพิ่มสูงขึ้นด้วย" นายรณรงค์ ระบุ
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอัตราเงินเฟ้อของปีนี้อีกครั้ง ทั้งนี้ มาตรการของภาครัฐ ทั้งการกำกับดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น การพยุงราคาพลังงาน และการอุดหนุนค่าสาธารณูปโภค รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อของไทย
อย่างไรก็ดี จากคาดการณ์เงินเฟ้อที่ปรับขึ้นไปสู่ระดับ 4-5% ในปีนี้ ถือว่ายังไม่เป็นประเด็นที่ต้องกังวลจนทำให้รัฐบาลจะต้องออกมาตรการใดๆ เพื่อมาใช้สะกัดเงินเฟ้อ เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศยังดีอยู่
นายรณรงค์ กล่าวถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในเดือนเม.ย.ว่า หากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยังยืดเยื้อต่อไป ก็เป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนเม.ย.จะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังจากที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่เดือนม.ค. ก.พ. และมี.ค. พร้อมมองว่า ปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน อาจยังไม่น่ากังวลเท่ากับสงครามการค้าที่จะเกิดขึ้นคู่ขนานกันไป จากการที่สหรัฐ และชาติพันธมิตรออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเนื่องกับหลายประเทศทั้งในด้านของราคาพลังงาน น้ำมัน ปิโตรเคมี สินแร่ สินค้าเกษตรต่างๆ และจะเป็นผลกระทบในระยะยาวได้มากกว่า