นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวถึงงานบางกอกอินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2022 หรือ งานมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 43 ที่ปิดฉากลงไปเมื่อ 3 เมษายนที่ผ่านมา มียอดจองรถยนต์ภายในงานรวมทั้งสิ้น 33,936 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 13.6% โดยเป็นยอดจองรถยนต์ไฟฟ้ารวมประมาณ 3,000 คัน คิดเป็น 10% โดยส่วนหนึ่งมาจากมาตรการของภาครัฐที่ส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า ประกอบกับรถยนต์และรถยนต์จักรยานยนต์รุ่นใหม่ที่แนะนำในช่วงงาน รวมถึงแคมเปญกระตุ้นยอดขายของค่ายรถ ขณะที่ผู้บริโภคให้ความเชื่อมั่นในมาตรฐานด้านความปลอดภัยของการจัดงานทำให้มีตัวเลขผู้เข้าชมงานสูงถึง 1,578,898 คน
นอกจากนี้ การจัดงานปีนี้มีบริษัทผู้ประกอบกิจการรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยมีมูลค่าการส่งออกกว่า 1.09 ล้านล้านบาท หรือ 6.4% ของ GDP ของประเทศ ในปี 64 ประเทศไทยผลิตรถยนต์รวม 1.7 ล้านคัน และคาดว่าปี 65 ประเทศไทยจะผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นรวม 1.8 ล้านคัน
นายสุริยะ กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้หารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ สมาคมยานยนต์ไทย สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกำหนดวิสัยทัศน์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของภูมิภาค โดยกำหนดเป้าหมายในปี 68 การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศรวม 225,000 คันต่อปี คิดเป็น 10% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด และในปี 73 การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศรวม 725,000 คันต่อปี คิดเป็น 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ภายในปี 73 สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท และสร้างความต้องการแรงงานยานยนต์สมัยใหม่ประมาณ 30,000 อัตราต่อปี
นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เร่งขับเคลื่อนปัจจัยแวดล้อมเพื่อสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญ ได้แก่ การจัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าครอบคลุม รถยนต์ รถกระบะ รถโดยสาร รถบรรทุก รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ แบตเตอรี่ และสถานีอัดประจุ รวมทั้งสิ้น 114 มาตรฐาน นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ หรือ ศูนย์ทดสอบ ATTRIC ณ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อการยกระดับมาตรฐานและการวิจัย ซึ่งเป็นศูนย์ทดสอบด้านยานยนต์แห่งแรกในภูมิภาค ASEAN ประกอบด้วย การวิจัยพัฒนาทดสอบสมรรถนะยานยนต์และชิ้นส่วนต้นแบบ การทดสอบยางล้อ และศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในประเทศมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานสากล
"การใช้รถยนต์ไฟฟ้า BEV ในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า BEV สะสมในปี 63 รวมประมาณ 2,000 คัน และปี 2564 มียอดการจดทะเบียน BEV รวมประมาณ 4,000 คัน โดยคาดการณ์ว่าในปี 2565 จะมียอดการใช้รถยนต์ไฟฟ้า BEV สะสมรวมประมาณ 10,000 คัน ซึ่งจะเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด"นายสุริยะ กล่าว