นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ทำการศึกษาการส่งออกยางพาราของไทย ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ที่มุ่งเน้นส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์จากยางพาราสู่ตลาดต่างประเทศ
สำหรับยางพารา เป็นสินค้าเกษตรส่งออกอันดับที่ 2 ของไทย รองจากผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง โดยมีมูลค่าส่งออกในปี 64 อยู่ที่ 175,978 ล้านบาท เติบโต 61.6% ตลาดส่งออกที่สำคัญ คือประเทศจีน มีสัดส่วน 35.3% มาเลเซีย มีสัดส่วน 14.4% สหรัฐฯ มีสัดส่วน 8.3% ญี่ปุ่น มีสัดส่วน 7.6% และเกาหลีใต้ มีสัดส่วน 4.0% โดยในปี 64 มีการส่งออกสินค้าในรูปของยางแท่ง น้ำยางข้น และยางแผ่นดิบ โดยมีอัตราการเติบโตที่ 88.3% 24.1% และ 74.5% ตามลำดับ
ในส่วนของสถิติการส่งออกสินค้ายางพาราไทย ปี 64 ชี้ให้เห็นถึงการขยายตัว และนับเป็นปีทองของยางพาราไทย โดยปัจจัยสำคัญของการเติบโต มาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ
1. ความต้องการในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการสินค้าป้องกันการติดเชื้อ โดยเฉพาะถุงมือยาง เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก
2. พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงจากการเดินทางโดยใช้รถสาธารณะ หันมาใช้รถยนต์ส่วนตัวที่เพิ่มขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการระบาด ทำให้ความต้องการยางยานพาหนะเพิ่มขึ้น การใช้ยางจึงเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
3. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 64 ส่งผลให้ความต้องการวัตถุดิบยางพาราในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ สนค. คาดว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 65 การส่งออกยางพาราของไทยจะยังเติบโตเป็นบวก แม้ว่าจะเผชิญความท้าทายในหลายปัจจัย อาทิ แนวโน้มการระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มลดลง และสต็อกถุงมือยางที่อยู่ในมือของผู้นำเข้ายังอยู่ในปริมาณสูง
อย่างไรก็ตาม ตลาดส่งออกยางพาราของไทยยังคงมีปัจจัยบวก เนื่องจาก 1. ปริมาณน้ำยางในช่วงต้นปีของมาเลเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกหมดแล้ว 2. ผลผลิตยางพาราในอินโดนีเซียประสบปัญหาโรคใบร่วง ทำให้อุปทานสู่ตลาดโลกลดลง และ 3.การเติบโตของตลาดรถยนต์ในสหรัฐฯ ทำให้ความต้องการยางทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น จึงคาดว่าปัจจัยเหล่านี้ จะช่วยให้การส่งออกยางพาราของไทยขยายตัวได้ดีในครึ่งปีแรกของปี 65
นอกจากนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาส่งออกยางพาราในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น โดยราคา F.O.B ยางแผ่นรมควัน ชั้น 3 ณ วันที่ 30 มี.ค. 65 ราคา กก. ละ 76.95 บาท เมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยทั้งปี 64 ที่ กก. ละ 65.34 บาท ซึ่งส่งผลบวกต่อมูลค่าการส่งออกยางพาราของไทย
สนค. ได้ประเมินตลาดศักยภาพในการส่งออกสินค้ายางพาราในแต่ละหมวด โดยพิจารณาจากลักษณะความต้องการสินค้า อัตราการเติบโตในปี 64 และส่วนแบ่งในแต่ละตลาด ดังนี้
- น้ำยางข้น เป็นวัตถุดิบในการผลิตถุงมือยาง ถุงมือทางการแพทย์ ถุงยางอนามัย ท่อยาง สายยาง กาวยาง และอุปกรณ์ยางที่ใช้ในทางการแพทย์ โดยมีตลาดศักยภาพ คือ มาเลเซีย จีน อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และบราซิล
- ยางแผ่นดิบ เป็นวัตถุดิบขั้นกลางในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง และเป็นชนิดของยางที่มีการผลิตมากที่สุดของไทย โดยตลาดสำคัญที่มีศักยภาพ คือ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ บราซิล และสเปน
- ยางแท่ง ผลิตจากยางแผ่นดิบ และน้ำยางข้น เป็นวัตถุดิบขั้นกลางที่ใช้ในการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ยางประเภทต่างๆ มีตลาดสำคัญที่มีศักยภาพ คือ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และไต้หวัน
นายรณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้กำหนดนโยบาย "เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด" เพื่อผลักดันและส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ โดยไตรมาสแรกของปี 65 ในส่วนของสินค้ายางพารา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและสำนักงานพาณิชย์จังหวัดภาคใต้ 7 จังหวัด ดำเนินการจับคู่เจรจาธุรกิจสินค้ายางพารา ภายใต้กิจกรรม OBM RUBBER SMART CONNECT เมื่อวันที่ 23-24 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยคาดการณ์ว่าการซื้อขายภายใน 1 ปี จะมีมูลค่า 220.10 ล้านบาท ทั้งนี้ ในปี 64 มูลค่าซื้อขายสินค้าผลิตภัณฑ์ยางพารา ได้แก่ ถุงมือยาง ยางรถบรรทุก จากการจับคู่เจรจาธุรกิจ มีมูลค่ารวม 170.73 ล้านบาท