นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวในงานเสวนาเศรษฐกิจไทยปี 51 ทิศทางแห่งการพัฒนาว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะดำเนินการต่อไปจะเน้นการจุดประกายเรื่องความเชื่อมั่น รวมทั้งทำให้นักลงทุนกล้าตัดสินใจลงทุนและบริโภคมากขึ้น
รมว.คลัง กล่าวว่า ในช่วงเย็นวันนี้จะมีการสรุปมาตรการที่จะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีภายในปลายเดือนนี้ ซึ่งจะสามารถอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบฐานราก โดยเฉพาะโครงการ SML 1.5 หมื่นล้านบาทตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเม.ย.เป็นต้นไป
นอกจากนี้ รัฐบาลจะประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาธุรกิจตลาดทุนในวันอังคารที่ 18 มี.ค.นี้ ซึ่งจะทำหน้าที่กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ที่ช่วยพัฒนาธุรกิจตลาดทุนได้อย่างจริงจัง เพื่อให้เป็นเสาหลักในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ และเริ่มขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างจริงจังต่อไป
ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ประกาศไปแล้วในส่วนของมาตรการภาษีที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ขณะนี้รอประกาศลงราชกิจจานุกเบกษา คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ปลายเดือนมี.ค.ช่วงต้นเม.ย.นี้
นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า การฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจของประเทศนับเป็นภารกิจสำคัญอันดับแรกที่รัฐบาลต้องดำเนินการเพื่อให้ผ่านพ้นจากภาวะสึนามิทางเศรษฐกิจไปให้ได้ ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ใช่การทำงานโดยคณะรัฐมนตรีเพียงลำพังแค่ 36 คน เหมือนเมื่อครั้งที่เกิดสึนามิในช่วงปลายปี 47 ที่จะได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่ช่วยให้ผ่านพ้นไปด้วยดี
รวมทั้งปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อเศรษฐกิจไทยจาก wait and see attitude มาเป็นแบบ can do attitude เนื่องจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของประเทศเกิดปัญหาความไม่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศ เนื่องจากการพัฒนาประเทศต้องอาศัยปัจจัยจากการส่งออกเป็นสำคัญ ทำให้ปัจจัยอื่นๆ ที่จะมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังไม่ทำงานเท่าที่ควร สาเหตุสำคัญมาจากการขาดความเชื่อมั่นทั้งในส่วนผู้บริโภคที่ไม่มั่นใจรายได้ในอนาคต ขณะที่นักลงทุนต่างชาติก็ขาดความเชื่อมั่นและเกิดความสับสน
อย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ยกเลิกมาตรการสำรอง 30% เป็นการแสดงสัญญาณชัดเจนว่ารัฐบาลเปิดต้อนรับเงินลงทุนจากต่างประเทศ และสิ่งต่อไปที่จะต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการแก้ไขกฎหมายการประกอบธุรกิจคนต่างด้าว เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าประเทศไทยต้อนรับเงินลงทุนต่างชาติมากน้อยเพียงใด
"ทิศทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจต้องสร้างความสมดุลของเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ ดังเช่นประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีการพึ่งเศรษฐกิจในประเทศและประเทศใกล้เคียงกัน ต้องขับเคลื่อนให้ 3 เครื่องยนต์เดินต่อไปได้ ทั้งการลงทุน การบริโภค และการใช้จ่ายภาครัฐ จากปัจจุบันมีการส่งออกจขับเคลื่อนอยู่ตัวเดียว"นพ.สุรพงษ์ กล่าว
นพ.สุรพงษ์ กล่าวถึงเบื้องหลังการยกเลิกมาตรการสำรอง 30% ว่า กระทรวงการคลังและธปท.เห็นตรงกันว่าจะต้องมีการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ตั้งแต่ 12 ก.พ.โดยได้ตกลงในหลักการกันไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่เพียงต้องรอให้หามาตรการมารองรับไม่ให้ตลาดตื่นตระหนก และเพื่อให้หลายฝ่ายเห็นว่ารัฐบาลและธปท.ได้ใคร่ครวญมาอย่างดีแล้ว
--อินโฟเควสท์ โดย คลฦ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--