ประเทศไทยมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ มีความหลากหลาย และมีประสิทธิผลของนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่มีประสิทธิภาพและแข็งแกร่ง ทำให้มีความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจที่จะสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและแรงกระทบที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง (Shock) ในอนาคตได้ ซึ่ง Moody?s คาดว่า ในระยะยาวการดำเนินการภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) จะสนับสนุนการลงทุนเพิ่มขึ้นและการเพิ่มผลผลิต (Productivity) เติบโตอย่างแข็งแกร่ง
นอกจากนี้ Moody?s คาดว่า ในระยะ 2 - 3 ปีข้างหน้าการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คลี่คลาย และภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวขึ้น จึงคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 65 และปี 66 จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ 3.4% และ 4.8% ตามลำดับ
ภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) ของประเทศไทยมีความแข็งแกร่ง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกัน (Baa Peers) โดย Moody?s คาดว่าช่วง 2 - 3 ปีข้างหน้า รัฐบาลจะยังคงดำเนินนโยบายการคลังแบบผ่อนคลายเพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีความเปราะบางโดยหนี้ภาครัฐบาล (General Government Debt) ปี 65 - 67 มีแนวโน้มสูงขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 52 - 54% ของ GDP ทั้งนี้ เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวส่งผลทำให้การขาดดุลงบประมาณและภาระหนี้ลดลง
นอกจากนี้ สัดส่วนหนี้ภาครัฐบาลสกุลเงินต่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำมากประกอบกับเงินออมภายในประเทศมีจำนวนมากจะทำให้ต้นทุนการกู้เงินต่ำลง ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยคงความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในระดับสูง (High Debt Affordability)
ภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) มีความเข้มแข็ง ทุนสำรองระหว่างประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง แม้ว่าปี 2565 ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเล็กน้อย เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์และต้นทุนการขนส่งที่สูงขึ้น แต่คาดว่าจะกลับมาเกินดุลในปี 2566
สำหรับปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ Moody?s ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือ (Sovereign Credit Rating) ของประเทศไทย คือ การเพิ่มระดับการลงทุนและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตของผลผลิต (Productivity Growth) อย่างยั่งยืน ซึ่งอาจช่วยลดผลกระทบจากปัญหาช่องว่างทางทักษะของแรงงานและโครงสร้างประชากรจากสังคมผู้สูงอายุได้ และการดำเนินการภายใต้ EEC ดีกว่าที่คาดการณ์
ขณะที่ปัจจัยสำคัญซึ่งอาจกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือ คือ ตัวชี้วัดภาคการคลังและหนี้สาธารณะที่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญเกินกว่าที่ Moody?s คาดการณ์ในปัจจุบัน รวมถึงการดำเนินการตามแผนการคลังระยะปานกลาง ตลอดจนปัจจัยทางการเมืองที่อาจส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและภาคการคลังของประเทศ
นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยสะท้อนได้จากล่าสุดธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเป็นบวกได้ 3% ในปี 65 และขยายตัว 4.5% ในปี 66 เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ 2 - 3 เดือนสุดท้ายของปี 64 และคาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในปี 65 สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยที่อยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล ซึ่งมาตรการของรัฐบาลที่ผ่านมา เช่น เราไม่ทิ้งกัน เราชนะ การเพิ่มกำลังซื้อผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และคนละครึ่ง เป็นต้น ช่วยเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี และมีส่วนทำให้สถานการณ์ด้านความเหลื่อมล้ำ สะท้อนจากค่าสัมประสิทธิ์ GINI ในปี 2563 มีค่าอยู่ที่ 0.35 มิได้เปลี่ยนแปลงจากช่วงก่อนโควิด-19 และลดลงเมื่อเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา
สำหรับหนี้ครัวเรือน ณ สิ้นสุดไตรมาส 4 ปี 64 อยู่ที่ 14.58 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 90.1% ต่อ GDP ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลของ GDP ที่หดตัวจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้ ระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จะลดลงในอนาคต นอกจากนี้ หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ (34.5%) เพื่อการประกอบอาชีพ (18.1%) และเพื่อการซื้อทรัพย์สิน (12.4%) ในขณะที่หนี้ครัวเรือนเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมีสัดส่วนที่น้อยกว่าอยู่ที่ 27.8% ดังนั้น หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่จึงเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้และสร้างอาชีพให้กับประชาชนในอนาคตต่อไป