นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดยังคงมีมุมมองระมัดระวังต่อเศรษฐกิจไทย แต่ยังคงประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 65 เติบโต 3.3% แม้ว่าก่อนหน้านี้ตัวเลขประมาณการของธนาคารจะต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ แต่ปัจจุบันหลายๆสถาบันและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจกำลังปรับลดประมาณการ
โดยหากมองไปข้างหน้าธนาคารยังมีความคาดหวังจะเห็นเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการปรับตัวใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19 ซึ่งธนาคารได้มองเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปี 65 จะปรับตัวดีขึ้น จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว แต่ปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจะส่งผลลบต่อดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย
ส่วนของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศยังอยู่ในภาวะปกติ โดยที่การพิจารณางบประมาณปี 66 คาดว่าจะเสร็จสิ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไปจะเริ่มขึ้น และปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ค่าเงินบาทจะค่อยๆแข็งค่าขึ้น โดยที่ธนาคารคาดว่าค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ในครึ่งปีแรกของปี 65 และปรับเป็น 32.5 และ 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาส 3/65 และ 4/65 ตามลำดับ
"งานหลักสำคัญในปี 65 คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อความต่อเนื่องในการฟื้นตัวในปี 66 การที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องนั้น รัฐบาลอาจต้องเข้ามาช่วยผลักดันมาตรการและนโยบายต่างๆ และหากมองว่าการกู้เงินเพิ่มเพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพมีความจำเป็น ประเทศไทยก็ยังพอมีความสามารถที่จะกู้เงินเพิ่มได้อีก" นายทิม กล่าว
ด้านทิศทางของนโยบายการเงินไทย มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเริ่มส่งสัญญาณทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นในการประชุมเดือนมิ.ย. 65 และคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในไตรมาส 3/66
"เราคาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ไปจนถึงกลางปีหน้า อย่างไรก็ตามแบงก์ชาติน่าจะเริ่มส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้นในอีก 2-3 เดือนข้างหน้านี้ เงินเฟ้อกำลังปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยยังเป็นที่ติดตามว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อนี้จะเป็นเพียงระยะสั้นหรือไม่ และจำเป็นต้องใช้ดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาในตอนนี้หรือไม่ และต้องให้เศรษฐกิจไทยเข้มแข็งเพียงพอที่จะรับมือกับการขึ้นดอกเบี้ยได้ก่อน จึงจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างไม่เป็นกังวล" นายทิม กล่าว
อย่างไรก็ตามจะเห็นว่าธนาคารกลางในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศได้ส่งสัญญาณทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น โดยมีธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เริ่มนำร่อง และในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ความเห็นจากคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟดทำให้ตลาดเชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐฯจะมีการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก
ดังนั้นธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งละ 0.50% ในการประชุมเดือนพ.ค. และมิ.ย. 65 ที่จะถึงนี้ จากนั้นจะปรับขึ้นอีก 0.25% ในการประชุมเดือนก.ค. 65 ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด โดยคาดว่าทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดหลังจากเดือนก.ค. 65 นั้นจะไม่รุนแรงเท่าที่ตลาดคาดการณ์ในตอนนี้
โดยที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลักอื่นๆที่เริ่มสูงกว่าของไทยอาจส่งผลกระทบต่อการไหลออกของกระแสเงินทุน และเพื่อเป็นการลดความผันผวนที่อาจเกิดขึ้น ธปท.อาจจะเริ่มส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ในขณะเดียวกันก็ยังต้องติดตามดูว่าภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั่วโลกจะชะลอตัวลงหรือไม่ ท่ามกลางความท้าทายที่เกิดจากนโยบายดอกเบี้ยขาขึ้นและรายได้แท้จริง (หักเงินเฟ้อ) ที่อาจลดลง