นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) ประจำเดือนมี.ค. 65 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจและหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 22-29 มี.ค. 65 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 35.5 ลดลงจากระดับ 36.1 ในเดือนก.พ. 65
โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้
- กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 34.7 ลดลงจากเดือนก.พ. ซึ่งอยู่ที่ 35.4
- ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 36.7 ลดลงจากเดือน ก.พ. ซึ่งอยู่ที่ 37.2
- ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 39.1 ลดลงจากเดือน ก.พ. ซึ่งอยู่ที่ 39.8
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 35.7 ลดลงจากเดือน ก.พ. ซึ่งอยู่ที่ 36.2
- ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 34.9 ลดลงจากเดือน ก.พ. ซึ่งอยู่ที่ 35.5
- ภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 33.3 ลดลงจากเดือน ก.พ. ซึ่งอยู่ที่ 33.9
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยลดลงในทุกภาค โดยจะเห็นได้ว่ามีการปรับเปลี่ยนมุมมองความกังวลจากเดิมในเรื่องการระบาดของโอมิครอน มาเป็นความกังวลต่อสถานการณ์ค่าครองชีพ จากปัญหาน้ำมันแพง และราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งในรัสเซียและยูเครน
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือน มี.ค. 65 มีดังนี้
- ปัจจัยลบ ได้แก่
1. ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย
2. ความกังวลต่อกาปรับให้โรคโควิด-19 เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น
3. ราคาสินค้าบางรายการ โดยเฉพาะวัตถุดิบมีราคาสูง ส่งผลต่อค่าครองชีพ กำลังซื้อของประชาชน และรายได้ของธุรกิจ
4. ความกังวลต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน และจำนวนผู้ติดเชื้อยังเพิ่มสูง
5. ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น
6. เงินบาทปรับตัวอ่อนค่า จากระดับ 32.674 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นก.พ.65 มาเป็นระดับ 33.252 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นมี.ค.65
7. การปรับนโยบายและแนวทางการรักษาแก่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยที่ยังมีความไม่แน่นอน
- ปัจจัยบวก ได้แก่
1. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง
2. ศบค. ปรับมาตรการสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทย ประเภท Test & Go, Sandbox และ Alternative Quarantine โดยให้ยกเลิกการตรวจ RT-PCR 72 ชั่วโมง และปรับลดการกักตัวเหลือ 5 วัน
3. กระทรวงการคลัง เผยยอดใช้จ่ายสะสม 3 โครงการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ รวมกวา 6.12 หมื่นล้านบาท
4. การส่งออกของไทยเดือน ก.พ. 64 ขยายตัว 16.2% มูลค่า 23,483 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
5. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น หรือทรงตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในการแก้ไขปัญหา มีดังนี้
1. มาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาราคาน้ำมัน ราคาก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายของภาคธุรกิจ และประชาชน
2. ลดต้นทุนภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์รัสเซียและยูเครน รวมทั้งระดับราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น
3. การเร่งเปิดประเทศ หรือลดขั้นตอนในการเข้าประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
4. การเร่งให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น และให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
5. กระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนภายในประเทศ และส่งเสริมให้ประชาชนเดินทางออกต่างจังหวัดในรูปแบบที่ปลอดภัยในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว
6. ส่งเสริมการลงทุนในประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนได้ลงทุนในสิ่งใหม่ๆ ให้มีความต่อเนื่องให้มีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ