นายพิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เผยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำประจำเดือน เม.ย.65 อยู่ที่ 64.97 จุด ลดลง 11.23 จุด หรือ 14.73% จากเดือน มี.ค.ซึ่งอยู่ที่ 76.20 จุด หลังสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเริ่มคลี่คลาย, รายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีแนวโน้มดีขึ้น, ความกังวลเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) , เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณการฟื้นตัว และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น
สำหรับคาดการณ์ความต้องการซื้อทองคำในช่วงเดือน เม.ย.65 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 294 ตัวอย่าง พบว่า 50% จะซื้อทองคำในเดือนนี้ ขณะที่ 29% ยังไม่ซื้อทองคำ และอีก 21% ไม่แน่ใจว่าจะซื้อทองคำหรือไม่
ขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำจำนวน 13 ตัวอย่าง ส่วนใหญ่จำนวน 6 รายเชื่อว่าราคาทองคำในเดือน เม.ย.65 จะใกล้เคียงกับราคาทองคำในเดือน มี.ค.65 อีก 4 รายคาดว่าจะลดลง และมี 3 รายคาดว่าจะเพิ่มขึ้น
ส่วนคาดการณ์ราคาทองคำในเดือน เม.ย.65 ของผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่มีมุมมอง ดังนี้ Gold Spot ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 1,870-2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ออนซ์ ด้านราคาทองคำแท่งในประเทศความบริสุทธิ์ 96.5% ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 29,700-31,500 บาท/น้ำหนัก 1 บาททองคำ ขณะที่ค่าเงินบาทให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 32.98-33.92 บาท/ดอลลาร์
คำแนะนำในการลงทุนทองคำเดือน เม.ย.65 ผู้ค้าทองคำรายใหญ่ให้ความเห็นว่า ราคาทองมีการแกว่งตัวผันผวน และการเหวี่ยงตัวของราคายังคงอยู่ในระดับสูง โดยมีแนวต้านอยู่ที่ 1,966 ดอลลาร์/ออนซ์ และหากสามารถผ่านแนวต้านแรกไปได้ อาจมีโอกาสขึ้นไปทดสอบแนวต้านถัดไปที่ 1,998 ดอลลาร์/ออนซ์ แต่หากไม่สามารถยืนเหนือแนวต้านดังกล่าวได้ ยังคงต้องระมัดระวังแรงขายที่ออกมา โดยประเมินแนวรับแรกที่บริเวณ 1,890 ดอลลาร์/ออนซ์ และแนวรับถัดไปที่บริเวณ 1,863 ดอลลาร์/ออนซ์ สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้อาจเข้าซื้อเมื่อราคาทองย่อตัวลงมาใกล้แนวรับดังกล่าว โดยยังคงต้องติดตามสถานการณ์การเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครนว่าจะสำเร็จผลหรือไม่ และค่าเงินบาทที่แกว่งตัวในกรอบกว้างซึ่งมีผลต่อราคาทองคำในประเทศ
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำระยะ 3 เดือนในไตรมาสที่ 2/65 (เม.ย.-มิ.ย.) คาดว่า อยู่ที่ 60.56 จุด ปรับตัวลดลง 9.68 จุด หรือ 13.78% จากไตรมาสแรกของปี 65 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 70.24 จุด เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเริ่มคลี่คลาย, ทิศทางนโยบายการเงินของเฟด, ปริมาณความต้องการทองคำที่ลดลง, การแข็งค่าของเงินบาท และการลดนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของเฟด