ธปท.ชี้ระบบการเงินไทย Q1/65 ยังมีเสถียรภาพท่ามกลางความเสี่ยงเงินเฟ้อ-ภูมิรัฐศาสตร์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 11, 2022 17:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดทำรายงานเสถียรภาพระบบการเงินไทยรายไตรมาส (Quarterly Financial Stability Snapshot) โดยครอบคลุมประเด็นความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่สำคัญ 8 ด้าน คือ ภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคธนาคารพาณิชย์ & non-bank ภาคสหกรณ์ ภาคตลาดการเงิน ภาคต่างประเทศ และภาค digital asset

สำหรับในไตรมาส 1/65 ภาพระบบการเงินไทยยังมีเสถียรภาพ แต่หากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครนยืดเยื้อ อาจส่งผลให้ค่าครองชีพและต้นทุนการผลิตปรับเพิ่มขึ้นจนกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน ผ่านความสามารถในการชำระหนี้ที่ด้อยลงของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจและการสูญเสียความเชื่อมั่นของนักลงทุน

  • ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนกลุ่มเปราะบางมีแนวโน้มด้อยลง จากค่าครองชีพที่เร่งตัวขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้ความเปราะบางสะสมของครัวเรือนเพิ่มขึ้น จากปัญหาภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงและรายได้ที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ที่มีอยู่เดิม
  • ความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจบางกลุ่มมีแนวโน้มด้อยลง โดยเฉพาะ SMEs และธุรกิจในภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวที่แตกต่างกันในแต่ละภาคธุรกิจ และโดนซ้ำเติมจากต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นแต่ไม่สามารถส่งผ่านไปสู่ผู้บริโภคได้เต็มที่
  • นักลงทุนบางกลุ่มอาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนในตลาดการเงินที่เพิ่มขึ้น เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ ที่ขยายการลงทุนทั้งในตราสารทุนและตราสารหนี้ต่อเนื่อง ในกรณีที่ตลาดการเงินผันผวนรุนแรงอาจประสบผลขาดทุนจนนำไปสู่การสูญเสียความเชื่อมั่นจากสมาชิก

สำหรับสถานะความเสี่ยง ณ ปัจจุบัน แบ่งเป็น

ภาคครัวเรือน

  • ยังคงเปราะบางต่อเนื่องจากภาระหนี้ที่สูง โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 90.1% และรายได้ที่ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่

-ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน โดยเฉพาะในภาวะที่ค่าครองชีพสูงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ

ภาคธุรกิจ

  • ธุรกิจขนาดใหญ่ ผลประกอบการและฐานะฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกและการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ แต่ยังต้องติดตามการฟื้นตัวที่มีความแตกต่างกัน โดยภาคอุตสาหกรรมยังฟื้นตัวได้ ขณะที่ภาคบริการเริ่มฟื้นตัวได้ดีขึ้น
  • SMEs สินเชื่อขยายตัวได้เล็กน้อยจากมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ขณะที่ยังต้องพึ่งพานโยบายภาครัฐในการเข้าถึงสินเชื่อ และต้องติดตามความเสี่ยงด้านความสามารถในการชำระหนี้
  • ต้องติดตามความต่อเนื่องของการฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว

ภาคอสังหาริมทรัพย์

  • ตลาดที่อยู่อาศัยมีสัญญาณฟื้นตัวจากอุปทานที่เร่งตัวขึ้น และธนาคารพาณิชย์เริ่มปรับการพิจารณาสินเชื่อของกลุ่มผู้กู้ที่มีกำลังซื้อ ตอบสนองการผ่อนคลายเกณฑ์ LTV
  • อย่างไรก็ดี อุปสงค์ยังคงชะลอตัว จึงต้องติดตามภาวะอุปทานคงค้างในระยะต่อไป

ภาคธนาคารพาณิชย์และ non-bank

  • ความเสี่ยงอยู่ในระดับปานกลาง แต่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยื้ดเยื้อ รวมถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซีย
และยูเครน อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินเชื่อในบางภาคส่วนทางเศรษฐกิจ
  • แม้ S&P จะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารพาณิชย์ไทย 4 แห่ง แต่เงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องยังอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ และยังทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
  • คุณภาพสินเชื่อสะท้อนการฟื้นตัวที่ยังมีความแตกต่างในแต่ละภาคเศรษฐกิจ โดยต้องติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยื้ดเยื้อ รวมถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินเชื่อในบางภาคส่วน
  • ในระยะข้างหน้า ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ ที่จะกดดันมากขึ้น ทั้งจากการกันสำรองตามภาวะเศรษฐกิจ และการแข่งขันที่สูงขึ้นจาก non-banks และการเข้ามาของผู้เล่นหน้าใหม่ รวมถึงการปรับตัวของธนาคารพาณิชย์ภายใต้การแข่งขันและระบบการเงินยุคดิจิทัล
  • คุณภาพสินเชื่อของ Non-bank ภายใต้การกำกับยังทรงตัว ขณะที่ Non-bank ขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ยังมีความมั่นคง

สหกรณ์ออมทรัพย์

  • สหกรณ์ออมทรัพย์ ที่มีสภาพคล่องส่วนเกินยังขยายการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินอย่างต่อเนื่อง และอาจได้รับผลกระทบหากตลาดการเงิน มีความผันผวนสูงขึ้นจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครน

ตลาดการเงิน

  • กลไกตลาดยังทำงานได้ปกติ แต่ต้องติดตามพฤติกรรม search for yield และความผันผวนในตลาดการเงินโลก จากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลักและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครนที่อาจส่งผ่านมาสู่ตลาดการเงินไทย
  • ภาคเอกชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนได้และยังไม่พบสัญญาณปัญหา rollover risk

ด้านต่างประเทศ

  • ยังคงเข้มแข็งและมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลลดลง เงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง

และเพียงพอสำหรับชำระหนี้ต่างประเทศระยะสั้น

ภาค Digital Asset

  • ความเสี่ยงและนัยของเสถียรภาพระบบการเงินไทยโดยรวมอยู่ในระดับต่ำ แต่ต้องติดตามต่อเนื่องเพราะตลาดมีความผันผวนสูง
และขยายตัวเร็ว
  • ตลาดมีความเสี่ยงที่จะผันผวนมากขึ้นจากความไม่แน่นอนของตลาดการเงิน
  • แม้ว่ามูลค่าการซื้อขาย cryptocurrency เฉลี่ยต่อวันยังต่ำ รวมถึงขนาดของบัญชีไม่ใหญ่แต่การเข้าถึง cryptocurrency ในไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจำนวนนักลงทุนที่เปิดบัญชีเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยปี 64 เพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่าจากปีก่อนหน้า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ