นักวิเคราะห์กล่าวว่า เงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ และอุปทานที่ไม่เพียงพอ เป็นปัจจัยหนุนให้ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้น
โดยเมื่อวานนี้ ราคาทองทะยานปรับตัวผ่านแนวต้านทางจิตวิทยาที่ 1,000 ดอลลาร์/ทรอยออนซ์ ทั้งนี้ ราคาทองคำพุ่งขึ้นถึง 32% ในปีที่ผ่านมา และปรับตัวสูงขึ้น 20% ในปีนี้ ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าการที่ราคาทองพุ่งแตะระดับ 1,000 ดอลลาร์ จะเกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอนในอนาคต
การอ่อนตัวลงของค่าเงินดอลลาร์เป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้ราคาทองคำทะยานขึ้น โดยดอลลาร์สหรัฐที่ร่วงลงทำให้สินทรัพย์ในสกุลเงินดอลลาร์ อาทิ ทองคำ มีราคาถูกลง และส่งผลต่อเนื่องให้นักลงทุนที่ถือสกุลเงินที่แข็งค่ากว่าพากันเข้าซื้อทองคำ
แดเนียล ไฮน์ส นักยุทธศาสตร์ด้านโลหะจากเมอร์ริล ลินช์ กล่าวว่า "มันเป็นเรื่องของแรงผลักดันจากนักลงทุน โดยความต้องการของนักลงทุนมาจากการอ่อนตัวของเงินดอลลาร์สหรัฐ" พร้อมกันนี้เขาคาดว่าแนวโน้มเช่นนี้จะยังไม่คลายลงในเร็วๆนี้
ความกลัวที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐซบเซา และมาตรการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ส่งผลให้เงินดอลลาร์ร่วงลงสู่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ โดยเฉพาะค่าเงินยูโร
เงินยูโรปรับตัวขึ้นทำสถิติใหม่ที่ 1.5625 ดอลลาร์ ก่อนที่จะขยับลงมาอยู่ที่ 1.5587 ดอลลาร์ในการซื้อขายที่นิวยอร์ก ซึ่งก็ยังอยู่เหนือระดับ 1.5526 ในการซื้อขายเมื่อวันพุธ ขณะที่เงินดอลลาร์เทียบกับเงินเยนนั้น ซื้อขายอยู่ที่ 99.75 เยน ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับ 102.04 เยนวานนี้
โดยขณะนี้ นักลงทุนยังเชื่อว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในการประชุมสัปดาห์หน้า ซึ่งอาจส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงอีก สวนทางกับราคาทองที่จะขยับขึ้น
นอกจากนี้ ความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นได้ส่งผลให้นักลงทุนพากันเข้าเก็งกำไรทองคำเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง
ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐปรับตัวขึ้น 4.1% ในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2533 และข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ความกดดันเงินเฟ้อได้เพิ่มสูงขึ้นในช่วงนี้
นักวิเคราะห์ตลาดซื้อขายล่วงหน้ารายหนึ่งกล่าวว่า ปัจจัยผลักดันราคาทองคำยังคงมีอยู่ เนื่องจากนักลงทุนหันมาซื้อโลหะมีค่าเพื่อกันตนเองให้ปลอดภัยจากเงินเฟ้อ
ปัจจัยเรื่องการขาดแคลนอุปทานก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาทองคำทะยานขึ้น โดยอุปทานทองคำไม่เพียงพอเนื่องจากอุปสงค์ของนักลงทุนที่ขยายตัวรวดเร็วเกินไป และผลผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างจำกัด
โดยผลผลิตทองคำอยู่ที่ 2,477 ตันในปี 2549 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี ขณะที่การขาดแคลนไฟฟ้าเมื่อต้นปีนี้บีบให้เหมืองทองคำในแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นผู้ผลิตทองรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ต้องระงับการผลิต ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้ราคาทองปรับตัวสูงขึ้น
เมื่อมองย้อนกลับไปในยุค 1980s ราคาทองแตะที่ 873 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเทียบเท่ากับ 2,235 ดอลลาร์ในขณะนี้เมื่อมีเรื่องของเงินเฟ้อเข้ามาเกี่ยวข้อง จากปัจจัยนี้ทำให้นักลงทุนหลายรายเชื่อว่า ราคาทองคำในปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าราคาในอดีตและจึงมีโอกาสที่ราคาทองจะปรับสูงขึ้นได้อีก
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์อีกกลุ่มหนึ่งเตือนว่าอาจมีความเสี่ยงต่างๆสะสม และส่งผลให้ราคาทองลดลงจากการขายเก็งกำไร สำนักข่าวซินหัวรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย ปนัยดา ปัทมโกวิท โทร.0-2253-5050 ต่อ 323 อีเมล์: panaiyada@infoquest.co.th--