คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 65 และ 66 จะขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 65 จะขยายตัวได้ 3.2% และในปี 66 ขยายตัวได้ 4.4% เป็นผลจากการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศเป็นสำคัญ รวมทั้งได้แรงส่งเพิ่มขึ้นจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 19 ล้านคน ทั้งนี้ ปัจจัยลบในช่วงที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยไม่มาก
โดยประเมินว่าผลกระทบของมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจะไม่กระทบแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างจำกัด เนื่องจากมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังรัสเซียในปี 64 มีสัดส่วนเพียง 0.4% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด และจำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซีย มีสัดส่วนเพียง 4% ในช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 แต่ไทยจะได้รับผลกระทบทางอ้อมผ่านการปรับขึ้นของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์เป็นสำคัญ ซึ่งกระทบต้นทุนสินค้า ค่าครองชีพ และกำลังซื้อในประเทศ รวมทั้งผ่านอุปสงค์ต่างประเทศที่จะชะลอ
พร้อมประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยปี 65 จะปรับสูงขึ้นเกินกรอบเป้าหมายที่ 4.9% โดยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 5% ในไตรมาสที่ 2 และ 3 จากฐานที่ต่ำของราคาน้ำมัน และมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐในปี 64 ก่อนจะทยอยลดลง และกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงต้นปี 566 โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 1.7% จากราคาพลังงานและอาหารที่คาดว่าจะไม่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง
"คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น เป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทาน (cost-push inflation) เป็นหลัก ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (demand-pull inflation) ยังอยู่ในระดับต่ำ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง" รายงาน กนง.ระบุ
สำหรับการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจน้อยกว่าระลอกก่อนหน้า โดย ระบบสาธารณสุขยังสามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยได้จึงคาดว่าจะไม่มีมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด
คณะกรรมการฯ มองว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นในระยะสั้น จาก (1) ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในบางอุตสาหกรรมที่อาจยืดเยื้อ โดยเฉพาะหากสินค้าโภคภัณฑ์ที่รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตสำคัญขาดแคลนรุนแรงขึ้น เช่น เหล็กดิบ ปุ๋ยเคมี ข้าวสาลี และแร่ธาตุบางชนิดที่ใช้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์
(2) ผลกระทบจากค่าครองชีพและต้นทุนที่สูงขึ้นต่อภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจในกลุ่มเปราะบาง เนื่องจากรายได้แรงงานนอกภาคเกษตรยังต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาด และความสามารถในการรองรับต้นทุนที่สูงขึ้นของธุรกิจบางสาขามีน้อยลง โดยเฉพาะธุรกิจที่มีต้นทุนเกี่ยวกับน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในสัดส่วนสูง เช่น ขนส่ง ปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ และก่อสร้าง
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้อภิปรายกันในประเด็นที่สำคัญ ดังนี้
- คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยไม่เข้าข่ายภาวะ stagflation โดยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 65 และ 66
- คณะกรรมการฯ ประเมินว่าความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่รุนแรงหรือขยายวงกว้าง อาจนำไปสู่ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระดับโลกที่สร้างความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า
- คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยที่ปรับเพิ่มขึ้นสูง มีบริบทที่แตกต่างจากประเทศเศรษฐกิจหลักโดยเฉพาะสหรัฐฯ
- คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย แต่เห็นว่าควรติดตามพลวัตเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด
- คณะกรรมการฯ ประเมินว่าระบบการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ แต่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเปราะบางขึ้นในบางกลุ่มจากค่าครองชีพและต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง มาตรการการคลังควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างตรงจุด โดยเน้นการสร้างรายได้และการบรรเทาภาระค่าครองชีพในกลุ่มเปราะบาง ขณะที่นโยบายการเงินช่วยสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลายต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อช่วยกระจายสภาพคล่องและช่วยลดภาระหนี้โดยเฉพาะในกลุ่มที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว เพื่อไม่ให้ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะปานกลาง
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
สำหรับในระยะปานกลาง คณะกรรมการฯ เห็นว่าการประเมินนโยบายการเงินที่เหมาะสม จำเป็นต้องชั่งน้ำหนักระหว่างเป้าหมายด้านเสถียรภาพราคา การขยายตัวของเศรษฐกิจ และเสถียรภาพระบบการเงินตามแนวโน้มและความเสี่ยงที่อาจเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์และประสิทธิผลของเครื่องมือเชิงนโยบายด้านอื่น ๆ ในภาพรวมควบคู่ไปด้วย
"การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในปัจจุบัน สะท้อนความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังสูงกว่าด้านอื่น ๆ อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้า เมื่อเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็งขึ้นและมีความเสี่ยงลดลง คณะกรรมการฯ จะปรับเปลี่ยนการให้น้ำหนักแต่ละเป้าหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยคำนึงถึงผลกระทบและประสิทธิผลของนโยบายในระยะปานกลางเป็นสำคัญ" รายงาน กนง.ระบุ