นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้ธุรกิจและผู้บริโภคต้องปรับตัวให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ การค้าออนไลน์ หรือ e-Commerce นับเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคยุค Next Normal
ทั้งนี้ กรมฯ มีภารกิจในการส่งเสริมการค้าผ่านระบบออนไลน์ เพื่อขับเคลื่อนการทำธุรกิจ e-Commerce โดยมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก และการมีส่วนร่วมของชุมชนบนพื้นฐานการใช้เทคโนโลยี เพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มการตลาดออนไลน์ ตลอดจนสร้างต้นแบบความสำเร็จด้วยการพัฒนาเชิงลึก ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
กรมฯ จึงร่วมกับ Google ประเทศไทย และหน่วยงานพันธมิตร ดำเนินโครงการ "สะพานดิจิทัล" (Saphan Digital) พัฒนาความรู้และทักษะด้านดิจิทัลที่จำเป็นให้แก่ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไป โดยการนำเทคโนโลยีและเครื่องมือดิจิทัล มาช่วยเพิ่มศักยภาพในการประกอบธุรกิจ รวมถึงสนับสนุนให้คนไทยสร้างอาชีพและรายได้ด้วยตัวเองผ่านเครื่องมือดิจิทัล พร้อมกับการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง โดยโครงการดังกล่าวแบ่งการอบรมออกเป็น 3 หลักสูตร คือ
1. การสร้างร้านค้าออนไลน์ "e-Commerce track" เป็นการให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการทำการค้าบนโลกออนไลน์ และการสร้างหน้าร้านบนโลกออนไลน์ (website)
2. การพัฒนาหน้าร้านสู่โลกออนไลน์ "Digitizing storefront track" เป็นการให้ความรู้เชิงลึกกับผู้ประกอบการ เกี่ยวกับการบริหารจัดการร้านค้าบนโลกออนไลน์ ตั้งแต่การปักหมุดธุรกิจ (Google My Business) การมีระบบชำระเงิน และการส่งสินค้าออนไลน์ไว้บริการลูกค้า
3. การทำโฆษณาสำหรับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร "NGO track" เป็นหลักสูตรที่จัดทำให้สำหรับ NGO ที่มีส่วนช่วยเหลือ SMEs ให้สามารถใช้เครื่องมือต่างๆ ในกูเกิล (Google) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"โครงการสะพานดิจิทัล เสมือนเป็นตัวช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการทุกระดับ ให้สามารถเรียนรู้และทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ได้จริง ปิดจุดอ่อน เสริมจุดแข็ง ตอบโจทย์การประกอบธุรกิจในยุคโควิด-19 ที่สามารถเรียนรู้ผ่านหลักสูตรออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา จากความร่วมมือของหน่วยงานชั้นนำต่างๆ ที่ระดมสรรพกำลัง องค์ความรู้ และเครื่องมือดิจิทัลต่างๆ มาร่วมพัฒนาทักษะที่จำเป็นให้ก้าวทันโลกได้อย่างเท่าเทียม" นายทศพล กล่าว
สำหรับการดำเนินโครงการสะพานดิจิทัล (Saphan Digital) ระยะที่ 1 (ปี 63) ระหว่าง 27 ส.ค.-21 ธ.ค. 63 มีผู้ประกอบการที่ผ่านการพัฒนาด้านการค้าออนไลน์ในหลักสูตรปกติ On-Demand (เรียนได้ทุกเวลาที่ต้องการ) จำนวน 11,826 ราย แยกเป็น ผู้ประกอบการ SME 3,748 ราย บุคคลธรรมดา 7,979 ราย และ NGO 100 ราย
"ทั้งนี้ สามารถนำความรู้จากการอบรมช่วยฟื้นฟูธุรกิจให้แข็งแรง ตลอดจนพัฒนาศักยภาพธุรกิจให้เดินไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง กรมฯ จึงอยากสานต่อภารกิจดังกล่าว เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยมุ่งสู่ความสำเร็จทางธุรกิจในระดับที่สูงขึ้น" นายทศพล กล่าว
ส่วน Saphan Digital Batch 2 (ระยะที่ 2) เริ่มจัดตั้งแต่เดือนมี.ค. 64-31 มี.ค. 65 ซึ่งมีผู้ประกอบการและผู้สนใจเข้ารับการเรียนรู้พัฒนาด้านการค้าออนไลน์จากทั่วประเทศทั้งหมดจำนวน 118,642 ราย ได้แก่ 1. หลักสูตรปกติ On-Demand จำนวน 50,874 ราย โดยแยกเป็น ผู้ประกอบการ SME 31,113 ราย บุคคลธรรมดา 19,638 ราย และ NGO 123 ราย 2. หลักสูตร Live Stream (ในช่วงเวลาที่กำหนด) จำนวน 67,768 ราย นับเป็นอีกหนึ่งก้าวของความสำเร็จของโครงการ จากความร่วมมือของทุกภาคส่วน
"การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ กรมฯ มุ่งหวังให้ผู้ประกอบการฐานรากเล็งเห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ มาประยุกต์ใช้กับการทำการค้าออนไลน์ เพื่อสร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชุมชน ส่งผลให้ธุรกิจมีความเข้มแข็ง เติบโตอย่างยั่งยืน และเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจให้ประเทศต่อไป" นายทศพล กล่าว