นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ในช่วง 3 เดือนแรก ปี 2565 (ม.ค. - มี.ค.) ธนาคารออมสินได้ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือประชาชนผู้ที่ตกงานหรือขาดรายได้ ผู้ประกอบการรายย่อย ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยธนาคารปล่อยสินเชื่อใหม่รวม 95,500 ล้านบาท ทั้งสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่อภาครัฐ เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 รวมกว่า 370,000 ราย
ในจำนวนนี้เป็นสินเชื่อตามนโยบายของรัฐบาล อาทิ สินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ จำนวน 33,000 ราย ปล่อยสินเชื่อรวม 1,600 ล้านบาท พร้อมกับอบรมทักษะอาชีพภายใต้โครงการออมสิน สร้างงาน สร้างอาชีพ ได้มากกว่า 16,200 ราย และสินเชื่อห่วงใย (เพื่อสู้ภัยโควิด-19) เพื่อช่วยเหลือกลุ่มประชาชนรายย่อยที่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง ได้มีเงินหมุนเวียนใช้สอยในครอบครัวอีกกว่า 50,000 ราย ซึ่งรวมถึงการปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถผ่านพันธมิตรของธนาคารด้วย เป็นต้น
สำหรับด้านการบริหารจัดการหนี้ ได้ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ได้รับการผ่อนปรนอย่างต่อเนื่อง ด้วยมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน ซึ่งในไตรมาสแรก ปี 2565 ธนาคารปรับโครงสร้างหนี้ได้ 260,000 ราย คิดเป็นยอดหนี้ 190,000 ล้านบาท ขณะที่จำนวนผู้ขอปรับโครงสร้างหนี้ลดลงจากเดิม เมื่อเทียบกับช่วงสถานการณ์โควิดปี 2563 ที่มียอดถึง 800,000 ราย ซึ่งถือว่าสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ทั้งจากมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ ของรัฐบาล และสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ลูกหนี้มีศักยภาพกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ โดยคาดว่าปีนี้จะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้มากกว่า 447,000 ราย
ในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPLs อัตราเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยจาก 2.5% เป็น 2.6% ซึ่งเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ โดยแนวโน้มหรือทิศทางของหนี้เสีย ยังอยู่ในสถานการณ์ที่สามารถบริหารจัดการได้
ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 ธนาคารมียอดสินทรัพย์รวม 2,962,012 ล้านบาท ยอดเงินฝากรวม 2,513,919 ล้านบาท เงินให้สินเชื่อรวม 2,185,558 ล้านบาท มีระดับความแข็งแกร่งพิจารณาจากอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 16.22% ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในภาพรวมของไตรมาสแรก ปี 2565 ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564