ขสมก.แจงจำเป็นจัดหารถใหม่ระยะสั้นแทนรถเก่าช่วงระหว่างรอแผนฟื้นฟูผ่าน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 21, 2022 17:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ชี้แจงกรณีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) ยื่นหนังสือถึงนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เมื่อวันที่ 20 เม.ย.65 โดยขอให้เร่งรัดดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบในหลักการของแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ซึ่งจะมีการดำเนินการจัดหารถโดยสารใหม่

ในช่วงระหว่างรอแผนฟื้นฟู ขสมก. นายกิตติกานต์ กล่าวว่า ขสมก.จำเป็นที่จะต้องจัดหารถใหม่ ซึ่งเป็นแผนระยะสั้น 2 ปีโดยจากการพิจารณาความเหมาะสมการจัดหารถใหม่ โดยมีเป้าหมายสูงสุด นอกจากยกระดับการให้บริการแล้ว จะต้องไม่ลงทุนเพิ่ม ไม่เป็นภาระงบประมาณ ไม่กู้เงิน และลดขาดทุน ซึ่งรูปแบบการซื้อ การเช่า มีขั้นตอนการพิจารณา อนุมัติ รวมไปถึงการขอจัดสรรงบประมาณ การดำเนินงานใช้ระยะเวลานาน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการบรรจุรถในเส้นทางที่ได้รับอนุญาตไม่ทันตามกำหนด และอาจทำให้ขสมก.เสียสิทธิ์ในการเป็นผู้ประกอบการในเส้นทางนั้นได้

ขณะที่รูปแบบการจ้างเหมาบริการจากเอกชน ขสมก.จ่ายค่าจ้างคิดเป็นกิโลเมตร จึงไม่เข้าข่ายการให้เอกชนร่วมลงทุน มีความเหมาะสม โดยจะใช้งบดำเนินงาน ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน คือ รายได้จากค่าโดยสาร ส่วนต่างจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงกับพลังงานสะอาด และค่าเหมาซ่อม โดยเป็นการจ้างให้เอกชนจัดหารถ พร้อมพนักงานขับรถ ขณะที่ขสมก.จะบริหารจัดการ ควบคุม กำกับดูแล ความถี่การปล่อยรถ เป็นหน้าที่ของ 8 เขตการเดินรถ เหมือนเดิม

โดยจะดำเนินการจ้างเหมาบริการ รถโดยสารไฟฟ้า (EV) จำนวน 400 คัน ซึ่งคณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด) ขสมก. พิจารณาเห็นชอบแล้วเมื่อเดือน ก.พ.65 ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) ซึ่งคำนึงถึงความโปร่งใส โดยจะให้ ผู้เชี่ยวชาญและภาคประชาชนมีส่วนร่วม โดยรอกรมบัญชีกลางส่งรายชื่อผู้สังเกตการณ์ ร่วมเป็นคณะกรรมการจัดทำร่างทีโออาร์ และจะเชิญสหภาพฯขสมก.ร่วมสังเกตุการณ์ในการจัดทำร่างทีโออาร์ด้วย คาดว่าจะประกาศทีโออาร์ในเดือน พ.ค.นี้ และสามารถจัดหารถได้ในเดือนก.ย.-ต.ค.65

ส่วนกรณีที่สหภาพฯ ขสมก. ตั้งข้อสังเกตว่า การจ้างเหมาบริการให้เอกชนเดินรถ คันละ 6,000 กว่าบาทต่อวันสูงเกินกว่าความเป็นจริงนั้น นายกิตติกานต์ กล่าวว่า พิจารณาต้นทุนจริงของขสมก. กรณีรถเมล์ธรรมดา(ครีมแดง) มีค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนสูงกว่า 6,000 บาท ต่อคันต่อวัน ประกอบด้วย ค่าเชื้อเพลิง คิดน้ำมันดีเซล ที่ลิตรละ 28-30 บาท ประมาณ 2,600 บาทต่อ กม. ค่าเหมาซ่อมเฉลี่ย1,400 บาทต่อคัน ค่าจ้างบุคลากร คนขับรถ พนักงานเก็บค่าค่าโดยสาร 3,000 บาทต่อคัน

ขณะที่ กรณีจ้างเหมาบริการ มีต้นทุนถูกกว่า คิดเฉพาะต้นทุนน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตร คิดต่อกม.จะอยู่ที่ 14-15 บาท เทียบกับรถเมล์ไฟฟ้า มีต้นทุนค่าพลังงาน ที่ 3.50 บาทต่อกม.เท่านั้น ส่วนค่าจ้างวิ่งนั้นมาจาก 3 ส่วน คือรายได้ค่าโดยสาร และส่วนต่างค่าเชื้อเพลิงที่ลดลงและค่าเหมาซ่อม ประเมินว่า จะเพียงพอกับค่าจ้าง ทั้งนี้ขึ้นกับจำนวนผู้โดยสารด้วย เชื่อว่าจะทำให้ขาดทุนน้อยลง นอกจากนี้ เอกชนยังต้องรับเรื่องการซ่อมบำรุงและจัดหาพนักงานขับรถ ทำให้ขสมก.หมดภาระต้นทุนค่าเหมาซ่อม โดยหากไม่สามารถดำเนินการได้ จะมีค่าปรับตามเงื่อนไขในสัญญา

โดยปัจจุบันขสมก.มีภาระค่าเหมาซ่อมประมาณ 1,600 ล้านบาทต่อปี ภาระค่าเชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลประมาณ 1,200 ล้านบาทต่อปี ค่าเชื้อเพลิง ก๊าซ NGV ประมาณ 512 ล้านบาทต่อปี ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร 1,500 ล้านบาท ต่อปี โดยมีต้นทุนเฉลี่ยในการเดินรถประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อปี โดยมีหนี้สะสมประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ขณะที่ขอรับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ(PSO ) ในปี 2564 จำนวน 2,130 ล้านบาท

สำหรับค่าโดยสาร 30 บาทแบบเหมาทั้งวันนั้นเป็นอัตราที่อยู่ในแผนฟื้นฟู ซึ่งยังไม่ได้รับอนุมัติ ดังนั้นในการดำเนินการรถใหม่ที่จ้างบริการนี้ จะเป็นปรับอากาศที่เก็บค่าโดยสาร 15-20-25 บาท ตามระยะทางและในเส้นทางที่มีรถร้อนครีมแดงให้บริการ หากมีรถปรับอากาศเข้าไปวิ่งทดแทน ขสมก.จะยังคงมีรถครีมแดง ให้บริการอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อไม่ให้กระทบประชาชน

ปัจจุบัน ขสมก. มีผู้โดยสารใช้บริการในวันธรรมดา ประมาณ 500,000-600,000 คน และ ในวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ ประมาณ 300,000-400,000 คน ซึ่งต่ำกว่าปี 2562 ที่ยังไม่มีโควิด-19 มีผู้ใช้บริการอยู่ที่ 900,000 คน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ