นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เห็นว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และกระทรวงการคลังต้องประเมินผลกระทบจากกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ(FED)ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงฉุกเฉิน 0.25% เมื่อคืนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าปัญหาซับไพร์มยังไม่คลี่คลายลง และยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐอย่างต่อเนื่อง
"ส่วนตัวเห็นว่าแบงก์ชาติควรพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตามเฟด เพื่อลดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยกับดอกเบี้ยโลก ส่วนจะเป็นเท่าใดนั้นต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กนง.(คณะกรรมการนโยบายการเงิน) และควรงดเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับผู้ที่ฝากไม่ถึง 1 ล้านบาท เพื่อให้มีเงินเหลือเพิ่มขึ้น" นายสันติ กล่าว
กรณี FED ปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานลงฉุกเฉิน 0.25% นั้นมีทั้งผลดีและผลเสียต่อประเทศไทย เพราะจะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้ามาในประเทศมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ไม่มีมาตรการกันสำรอง 30% แล้ว
ส่วนปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ นายสันติ กล่าวว่า ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมประมงชายฝั่งและอุตสาหกรรมที่พึ่งพาระบบลอจิสติกส์ โดยขณะนี้มีเรือประมงลดการออกจับปลา เนื่องจากต้นทุนราคาน้ำมันสูงขึ้น
ขณะเดียวกันยังส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนลดลงด้วย ดังนั้นผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัวด้วยการลดต้นทุนการผลิตลง สำหรับนโยบายการปรับลดราคาสินค้าของรัฐบาลนั้น ขณะนี้ยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน คงจะเริ่มเห็นผลประมาณสิ้นเดือนนี้
ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า วันที่ 25 มี.ค.นี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) จะเข้าพบนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เพื่อหารือถึงประเด็นทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน และหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) จากปัญหาราคาน้ำมันแพงและค่าเงินบาท, การช่วยเหลือผู้ประกอบการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล, การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการขยายพื้นที่รองรับภาคอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก เป็นต้น
--อินโฟเควสท์ โดย อตฦ/ธนวัฏ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--