แกะรอยเส้นทางวิบาก"แบร์ สเติร์นส์"ก่อนผ่าทางตันขายกิจการให้เจพีมอร์แกน

ข่าวต่างประเทศ Monday March 17, 2008 12:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          แบร์ สเติร์นส์ วาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 5 ของสหรัฐ ได้ตัดสินใจผ่าทางตันด้วยการขายกิจการให้เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค หนึ่งในวาณิชธนกิจที่ได้รับการยอมรับว่ามีงบดุลที่แข็งแกร่งในสุดในตลาดวอลล์สตรีท ส่งผลให้ความเป็นอิสระของแบร์ สเติร์นส์สิ้นสุดลง หลังจากบริษัทไม่สามารถดำเนินการตามข้อกำหนดของสถานบันการเงินผู้ปล่อยกู้และหลังจากลูกค้าแห่ถอนเงินสดออกไปเป็นจำนวนมาก
สำนักข่าวเอพีได้แกะรอยเส้นทางวิบากของแบร์ สเติร์นส์ ก่อนมาถึงจุดพลิกผันที่นำไปสู่การขอวงเงินกู้ฉุกเฉินจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก จนทำให้เกิดความตื่นตระหนกไปทั่วตลาดวอลล์สตรีท และทำให้แบร์ สเติร์นส์ต้องขายกิจการให้กับเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค ในที่สุด
ปี 2550
- 14 มิ.ย. : แบร์ สเติร์นส์รายงานว่าผลประกอบการรายไตรมาสลดลง 10% เนื่องจากปัญหาในตลาดปล่อยกู้จำนอง ซึ่งในวันนั้น นายแซม โมลินาโร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินของแบร์ สเติร์นส์กล่าวว่า "แบร์ สเติร์นส์ได้รับผลกระทบจากภาวะซบเซาในตลาดปล่อยกู้จำนอง และคาดว่าจะได้รับผลกระทบต่อไปอีกจนกว่าสถานการณ์ในตลาดจะฟื้นตัวขึ้น"
- 18 มิ.ย. : มีรายงานว่าเฮดจ์ฟันด์ภายใต้การบริหารของแบร์ สเติร์นส์ เข้าไปลงทุนจำนวนมากในตลาดปล่อยกู้จำนองให้กับลูกหนี้ที่ขาดความน่าเชื่อถือ (ซับไพร์ม)
- 22 มิ.ย. : แบร์ สเติร์นส์ ยอมรับว่า บริษัทใช้เม็ดเงินมูลค่า 3.2 พันล้านดอลลาร์เข้าไปกอบกู้กิจการ ไฮ-เกรด สตรัคเจอร์ด เครดิต ฟันด์ ซึ่งเป็นกองทุนภายใต้การบริหารของแบร์ สเติร์นส์ อย่างไรก็ตาม แบร์ สเติร์นส์กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในขอบเขตที่สามารถแก้ไขได้
- 17 ก.ค. : แบร์ สเติร์นส์กล่าวกับลูกค้าว่า สินทรัพย์ของของกองทุนที่ประสบปัญหาแห่งหนึ่งของบริษัท ปรับตัวลดลงจนแทบไม่เหลือมูลค่า ขณะที่มูลค่าสินทรัพย์ของกองทุนอีกแห่งหนึ่งเหลืออยู่เพียง 9 % ในช่วงเวลาซึ่งสิ้นสุด ณ เดือนเม.ย.
- 1 ส.ค.: กองทุน 2 แห่งของแบร์ สเติร์นส์ยื่นขอความคุ้มครองจากศาลล้มละลาย
- 5 ส.ค. : วอร์เรน สเปคเตอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (ซีโอโอ) และประธานร่วมของแบร์ สเติร์นส์ ประกาศลาออก จากนั้น อลัน ชวาร์ทซ์ เข้ามารับหน้าที่เป็นประธาน โดยมี โมลินาโร รับหน้าที่เป็นซีโอโอร่วม
- 6 ส.ค. : แบร์ สเติร์นส์ ส่งจดหมายถึงลูกค้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าสถานะทางการเงินของบริษัทยังดีอยู่ โดยใจความบางตอนของจดหมายระบุว่า "เราขอให้ลูกค้ามั่นใจว่าแบร์ สเติร์นส์รับรู้ถึงความท้าทายต่างๆที่เกิดขึ้นในตลาดมาก่อนหน้านี้แล้ว บริษัทมีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์มากพอที่จะรับใช้ท่านและรับมือกับความท้าทายต่างๆได้"
- 20 ก.ย. : แบร์ สเติร์นส์รายงานว่า ผลประกอบการรายไตรมาสทรุดตัวลง 68% โดยในช่วงเวลาที่สิ้นสุด ณ เดือนพ.ค.จนถึงช่วงเวลาที่สิ้นสุด ณ เดือนส.ค. มูลค่าทางบัญชีของแบร์ สเติร์นส์ลดลง 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์
- 14 พ.ย. : โมลินาโร หนึ่งในผู้บริหารแบร์ สเติร์นส์กล่าวว่า แบร์ สเติร์นส อาจต้องปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ 1.62 พันล้านดอลลาร์ และตั้งสำรองหนี้สูญในไตรมาส 4
- 28 พ.ย. : แบร์ สเติร์นส์ ประกาศลดจำนวนพนักงานในสัดสวน 4% หลังจากประกาศลดจำนวนพนักงานไปแล้ว 2 % เพียง 2 สัปดาห์ก่อนหน้านั้น
- 20 ธ.ค. : แบร์ สเติร์นส์ ประกาศลดมูลค่าสินทรัพย์ 1.9 พันล้านดอลลาร์ โดยนายเคน ซีอีโอของแบร์ สเติร์นส์ในเวลานั้น ประกาศไม่ขอรับเงินโบนัสประจำปี 2550
ปี 2551
- 7 ม.ค. : นายเคน ซีอีโอ ประกาศลาออกจากตำแหน่งเพราะไม่สามารถทนรับแรงกดดันภายในองค์กรได้ ทำให้นายชวาร์ทซ์ เข้ามารับหน้าที่ซีอีโอแทน
- กลางเดือนม.ค. : ตลาดการเงินสหรัฐผันผวนอย่างหนัก ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งทำให้ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นวงเงินมูลค่า 1.50 แสนล้านดอลลาร์
- กลางเดือนก.พ. : ตลาดซับไพรม์สหรัฐเกิดวิกฤตการณ์รุนแรงและลุกลามไปสร้างความเสียหายในตลาดตราสารประเภทอื่นๆของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงหุ้นกู้เทศบาล (municipal debt)
- 10 มี.ค. : มีข่าวลือแพร่สะพัดในตลาดวอลล์สตรีทว่า แบร์ สเติร์นส์ อาจมีเงินสดไม่มากพอที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่แบร์ สเติร์นส์ออกมาสยบข่าวลือดังกล่าว โดยระบุว่า "ข่าวที่ว่าเกิดปัญหาสภาพคล่องในแบร์ สเติร์นส์ ไม่มีมูลความจริง"
- 12 มี.ค. : นายชวาร์ทซ์ ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CNBC เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่า แบร์ สเติร์นส์มีสภาพคล่องเพียงพอ และมั่นใจว่าบริษัทสามารถทำกำไรได้ในไตรมาสแรกของปีนี้
- 14 มี.ค. : แบร์ สเติร์นส์ ยอมรับว่า บริษัทขอรับวงเงินกู้ฉุกเฉินจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก และเจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค เนื่องจากขาดสภาพคล่องอย่างหนัก
- 17 มี.ค. : เจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค เข้าซื้อกิจการแบร์ สเติร์นส์ ในราคาหุ้นละ 2 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นวงเงินรวม 236.2 ล้านดอลลาร์ ปิดตำนานหนึ่งในวาณิชธนกิจรายใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ