น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้มีนโยบายให้ตั้งแต่หลังเทศกาลสงกรานต์เป็นจุดเริ่มต้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ และในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้มีมติยกเลิกข้อกำหนดการเดินทางเข้าประเทศไทยในรูปแบบ Test&Go เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวโดยมีผลเริ่มวันที่ 1 พ.ค. 2565 ไปแล้วนั้น
ทางด้านการลงทุนเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างชาติ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ทีมเศรษฐกิจ ซึ่งมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ดูแลรับผิดชอบ จัดทำแผนเพื่อให้ข้อมูลแก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการลงทุน สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ประกาศหลายมาตรการ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ในส่วนของนักลงทุนในต่างประเทศระหว่างวันที่ 19-23 เม.ย.ที่ผ่านมา นายสุพัฒนพงษ์ ได้นำคณะไปจัดกิจกรรมส่งเสริมและชักจูงการลงทุนที่ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นต่างชาติที่มีการลงทุนในประเทศไทยมากที่สุด และเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายสำคัญของโลก ซึ่งในโอกาสนี้รองนายกรัฐมนตรีและคณะได้ให้ข้อมูลนักลงทุนเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรม S-Curve รวมถึงมาตรการจูงใจนักธุรกิจและนักลงทุนเดินทางเข้ามาพำนักในประเทศไทยโดยถือวีซ่าสำหรับผู้พำนักระยะยาว (Long - Term Resident Visa: LTR)
"ต่อเนื่องจาการผ่อนคลายมาตรการเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรีให้มีการมีการเจรจาทั้งทางการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ เพื่อเร่งให้การค้าและการลงทุนเข้ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วย ซึ่งตอนนี้เป็นจังหวะที่ดี เนื่องจากหลายประเทศได้เปิดประเทศ สามารถเดินทางได้มากขึ้นกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนของการโรดโชว์ในต่างประเทศนั้นเริ่มจากญี่ปุ่นเป็นแห่งแรก ซึ่งตามแผนงานของสำนักงานบีโอไอ จะทยอยเดินทางไปประเทศที่มีการลงทุนในไทยมากและเปิดประเทศแล้ว เช่น ยุโรป สหรัฐฯ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ซึ่งจะมีทั้งรูปแบบที่รองนายกรัฐมนตรีนำคณะไปในนามของรัฐบาล และระดับการให้ข้อมูลโดยสำนักงานบีโอไอเอง" น.ส.ไตรศุลี กล่าว
ทั้งนี้ ข้อมูลการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2564 ที่ผ่านมา มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด ทั้งหมด 1,674 โครงการ มูลค่าการลงทุน 642,680 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นคำขอของนักลงทุนต่างชาติ 783 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 455,331 ล้านบาท
ประเทศที่มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน 10 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 178 โครงการ เงินลงทุน 80,733 ล้านบาท, จีน 112 โครงการ เงินลงทุน 38,567 ล้านบาท, สิงคโปร์ 96 โครงการ เงินลงทุน 29,669 ล้านบาท, สหรัฐฯ 41 โครงการ เงินลงทุน 29,519 ล้านบาท, ไต้หวัน 39 โครงการ เงินลงทุน 21,804 ล้านบาท, ออสเตรีย 2 โครงการ เงินลงทุน 14,808 ล้านบาท, อิตาลี 5 โครงการ เงินลงทุน 13,158 ล้านบาท, เกาหลีใต้ 28 โครงการ เงินลงทุน 12,419 ล้านบาท, ฮ่องกง 62 โครงการ เงินลงทุน 12,390 ล้านบาท และ นอร์เวย์ 2 โครงการ เงินลงทุน 10,314 ล้านบาท